ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยถึงความสำคัญของ BCG Economy Model ที่นำไปสู่การประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในรูปแบบเดิม มีข้อสังเกตด้านปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนคือ ประเทศไทยเน้นการพัฒนาโดยใช้ข้อได้เปรียบด้านทรัพยากร และแรงงานราคาถูก เพื่อผลิตสินค้าที่มีราคาไม่แพง แต่การพัฒนาในภาพรวมยังต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป อีกทั้งการกระจายรายได้ กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่มีฐานะ มีศักยภาพในการผลิตสูง เห็นได้จากกลุ่มผู้ส่งออก ที่ยังเป็นบริษัทรายใหญ่ หรือบริษัทต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ประเทศไทยต้องพิจารณาในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ที่ต้องอาศัยการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น
ปัญหาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางมาเป็นเวลาหลายปี โดยมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 8,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปี หากต้องการขยับขึ้นข้ามเส้นแบ่งของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขึ้นสู่ประเทศรายได้สูง จะต้องมีรายได้อยู่ที่ 12,500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปี การผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด จึงต้องอาศัยการนำกลไกขับเคลื่อนรูปแบบใหม่ๆ มาใช้ รวมไปถึง BCG Economy Model ที่จะเข้ามาช่วยให้เกิดการสร้างรายได้ให้ประเทศ และกระจายรายได้เข้าสู่กลุ่มคนจำนวนมาก
BCG Economy Model แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่
การพัฒนาจะมองเป็น 2 ส่วน คือยอดและฐานของพีระมิด ส่วนที่เป็นยอดพีระมิดเป็นกลุ่มคนที่จะใช้ความรู้ เทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาด้านการผลิตอย่างเข้มข้น ซึ่งมีคนทำได้ในจำนวนน้อย เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทอาหารเชิงฟังก์ชั่น หรือ functional food เป็นอาหารที่กินเพื่อให้สุขภาพดี โดยผลิตให้เหมาะกับแต่ละบุคคล เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ต้องเลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง, นักกีฬา ต้องการโปรตีน ทำให้สินค้าเหล่านี้สามารถนำไปขายได้ในราคาสูงขึ้น
ส่วนฐานของพีระมิด ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก จะใช้เทคโนโลยี หรือความรู้ในระดับที่ไม่สูงนัก แต่ต้องเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้เป็นฐานสนับสนุนการผลิต เช่น การปลูกมะม่วง มีการนำเอาความรู้เข้าเรื่องธาตุอาหารในดิน การดูแลเรื่องความชื้น หรือการทำแพคเกจห่อหุ้มผลมะม่วงเพื่อรักษาผิวระหว่างออกผลเข้าไปช่วย ซึ่งมีราคาไม่สูง เกษตรกรสามารถจับต้องได้ จะช่วยทำให้สามารถขายสินค้าส่งออกได้ในราคาสูงและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร
หากสามารถดำเนินการตามแนวทางของ BCG Economy Model ได้ จะก่อให้เกิดการพัฒนาในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ้านำแนวคิดเรื่อง BCG มาใช้ จะทำให้คนตกงาน เริ่มหันกลับมาสนใจการทำงานในภาคการเกษตร ช่วยลดภาวะการว่างงาน และทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านเกษตรอาหารของประเทศ
เมื่อมองในภาพใหญ่ของประเทศ BCG เป็นส่วนแบ่งของ GDP ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท หากดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้ คาดว่าภายใน 5 ปี จะสามารถเพิ่มจำนวนส่วนแบ่ง GDP เป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นปีละ 2 แสนล้านบาท และเพิ่มอัตราการจ้างงานจากเดิม 16.5 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน เมื่อเกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก จะเกิดการกระจายรายได้สู่ภาคประชาชน และกลุ่มคนฐานะปานกลาง ไปจนถึงฐานะยากจนได้มากขึ้น นำไปสู่การสร้างความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในระยะยาว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit