การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เร่งพัฒนาบุคลากรรองรับนโยบายองค์กรดิจิทัล สร้างนักพัฒนาระบบไฟฟ้าตอบโจทย์ยุค 4.0 ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและขยายการบริการด้านไฟฟ้าให้กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทุ่มงบกว่า 20 ล้านบาท มอบทุนการศึกษาให้บุคลากรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ศึกษาต่อปริญญาโท และ ปริญญาเอก ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) โดยเน้น 3 ด้านหลัก คือ พลังงาน (Sustainable Energy Transition), วิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (Data Science & AI) และ วิศวกรรมระบบอินเตอร์เน็ต (IoT System Engineering) หวังนำความรู้มาพัฒนาและแก้ปัญหาเรื่องไฟฟ้าให้ประชาชนสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคง ปลอดภัย ทั้งนี้ เป้าหมายในปีหน้า คือ พัฒนาและสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในกลางปี 2564 ซึ่งเป็นเฟสที่ 1 เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและมีความมั่นใจในการใช้มากขึ้น ขณะเดียวกันเตรียมสร้างระบบการแก้ไขไฟฟ้าบ้านขัดข้องด้วยระบบดิจิทัล ให้สะดวก รวดเร็ว และแก้ไขได้ทันที
ทั้งนี้ กฟภ. และสถาบัน AIT เซ็นลงลงนามความร่วมมือสนับสนุนและส่งเสริมด้านการศึกษาร่วมกัน เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 โดย นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ ดร.อีเดน วูน อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ซึ่ง กฟภ. สนับสนุนเงินทุนกว่า 20 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาต่อปริญญาโท และปริญญาเอก ระยะเวลา 4 ปี โดยปริญญาโท ไม่เกิน 5 คนต่อปี รวมไม่เกิน 20 คน และปริญญาเอก ไม่เกิน 1 คนต่อปี รวมไม่เกิน 4 คน รวมทั้งหมด 24 คน ขณะที่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สนับสนุนค่าใช้จ่ายประมาณ 10 ล้านบาท ในความร่วมมือครั้งนี้
นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า ขณะนี้ กฟภ. กำลังเร่งพัฒนาและสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Car ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฟสที่ 1 จะสร้างสถานีชาร์จ แบบ Quick Charge ทุกๆ 100 กิโลเมตร ทุกภาคทั่วประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเดินทางไกล และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2564 และจะขยายโครงการเพิ่มเติมในเฟสต่อๆไป นอกจากนี้ กฟภ. ยังพัฒนาแอพลิเคชั่น Solar Hero เพื่อช่วยให้ประชาชนที่สนใจติดตั้งแผงโซลาเซลล์บนหลังคาบ้าน สามารถคำนวณพื้นที่ ความเหมาะสมของบ้าน ไปจนถึงเงินทุน และจุดคุ้มทุนในการติดตั้ง เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนติดตั้งจริง
“การศึกษาต่อเนื่องในความรู้เฉพาะด้านที่จะมาขับเคลื่อนองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง AI, DATA, พลังงานทดแทน ซึ่ง สถาบัน AIT เชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ แต่เดิมองค์กรเน้นเรื่องพลังงานอย่างเดียว และขยายมาขับเคลื่อนเรื่องพลังงานทดแทน และเล็งเห็นว่าการส่งบุคลากรไปเรียนเรื่องใหม่ๆเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาระบบดิจิทัล หากจ้างที่ปรึกษาก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ ไม่เข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง ต่างจากคนใน กฟภ. ที่สัมผัสและคุ้นเคย จึงสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด การศึกษาเรียนต่อจึงจะเป็นฐานความรู้ให้บุคลากรนำกลับมาพัฒนาทั้งภายในองค์กรและการบริการให้ประชาชน ดียิ่งขึ้นไปพร้อมๆกัน โดยบุคลากรที่ กฟภ. ส่งไปเรียนต่อที่ AIT ล้วนเป็นหัวกะทิขององค์กร” ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวเสริม
ด้าน ดร.อีเดน วูน อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวว่า สถาบัน AIT มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ กฟภ. มาอย่างยาวนาน เป็นหนึ่งในองค์กรใหญ่ของไทยที่ทำงานร่วมกันในด้านการศึกษา วิจัยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้คาดหวังว่าสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียจะได้พัฒนาความรู้และสร้างบุคลากรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัลต่อไปในอนาคต
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit