เยาวชนไทยวัยโจ๋กว่า 120 คน ร่วมสร้างสรรค์ไอเดียให้สังคมและโลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น พลิกโควิดและวิกฤติสิ่งแวดล้อมเป็นโอกาส โดยเปิดโอกาสค้นหาตนเองผ่านการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และโอกาสของการแบ่งปันช่วยเหลือสังคมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คาดกันว่า โลกอนาคตในปี 2568 ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่มาคู่กับการกักเก็บพลังงานจะมีมากกว่า 30% ด้วยจุดเด่นเป็นพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสะอาด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย งานวิศวกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (ESR) ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ได้จัด “การแข่งขันออกแบบโมเดลรถพลังงานแสงอาทิตย์” ภายใต้โครงการ “การพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของโรงเรียนด้วยทักษะทางวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี 4.0” เพื่อพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาในโรงเรียน โดยนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้ และลงมือปฏิบัติให้เกิดความเข้มแข็ง ภายในงานมีการให้ความรู้ เรื่อง “เทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์” และจัดงานแข่งขันสร้างผลงานโมเดลรถพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีเยาวชนและครูมาร่วมแข่งขันกว่า 120 คน ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม กล่าวว่า “การแข่งขันออกแบบโมเดลรถพลังงานแสงอาทิตย์” เป็นการผสมผสานความรู้ใน "สะเต็มศึกษา" (STEM Education: Science, Technology, Engineering and Mathematics) กับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การแข่งขันมี 2 รอบ โดยทีมเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ทีมละ 10 คน จะศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์และระดมข้อคิดเห็น ในช่วงเช้าทุกทีมจะต้องสร้างสรรค์แนวคิด ออกแบบและประดิษฐ์โมเดลรถขึ้นมา และช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอผลงาน โดยมีคณะกรรมการตัดสิน ประกอบด้วย ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ, ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร, ดร.นิรุทธ์ พรมบุตร, อ.ธนทิพย์ อ้วนอ่อน ส่วนเกณฑ์การให้คะแนน 100 คะแนน แบ่งเป็น ความคิดสร้างสรรค์ 20 คะแนน, การอ้างอิงทฤษฎีเบื้องต้น 20 คะแนน, การนำเสนอ 20 คะแนน (เป็นภาษาอังกฤษได้คะแนนเพิ่ม), การนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง 20 คะแนน, ความสมบูรณ์ของโครงงาน 20 คะแนน
ปุญยิสา กลิ่นจำปา (เนส) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทีมเจ้าของผลงาน SUN RIGHT โรงเรียนเพิ่มวิทยาคว้ารางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า เกลือเป็นภูมิปัญญาของมนุษย์และผลิตผลจากธรรมชาติที่สำคัญต่อชีวิตและธุรกิจอุตสาหกรรม โดยประเทศไทยมีพื้นที่ทำนาเกลือกว่า 81,000 ไร่ เป็นแรงบันดาลใจสู่แนวคิดโมเดล “รถกลิ้งนาเกลือ Sun Right ” ปกติแล้วชาวนาเกลือจะใช้รถบดพื้นนาเกลือให้แน่นและเรียบแข็งก่อนจะปล่อยน้ำทะเลเข้ามาตากแดด ด้วยเหตุนี้แผงโซลาร์เซลล์จึงช่วยชาวนาได้มาก โดยออกแบบรถกลิ้งนาเกลือพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบอัตโนมัติสามารถแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยให้ชาวนาประหยัดต้นทุนจากการใช้แรงงานและใช้น้ำมัน ลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และลดปัญหาโลกร้อนอีกด้วยค่ะ
คนานนต์ โมราฤทธิ์ (ตี๋) หนุ่มน้อยในทีม ผลงาน TB1 รถซิ่ง…วิ่งแรง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล ๑ วัดพระงาม (สามัคคีพิทยา) ได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ กล่าวว่า แนวคิดเราต้องการทำรถอเนกประสงค์สำหรับใช้ภายในโรงเรียน ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เงียบและเคลื่อนที่ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เราได้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และไฟฟ้ามาประยุกต์ใช้ จากการทำโมเดลทดลอง รถสามารถเคลื่อนที่ได้จริง ความเร็ว 0.15 กม./ชม. ทั้งมีจุดเด่นสามารถปรับองศาทิศทางของแผงโซลาเซลล์ได้อีกด้วย ซึ่งทำให้ได้รับพลังงานที่ทั่วถึงครับ การได้ร่วมคิดออกแบบและทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ เป็นประสบการณ์ที่มีค่าและท้าทาย ออกมาเป็นโมเดลสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ครับ
พิชญา มิ่งอรุณ (วิว) สาวน้อยในทีมเจ้าของผลงาน T.S.B.5 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล ๕ วัดพระปฐมเจดีย์ ได้รับรางวัล Popular Vote กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมติดอันดับโลก แต่หลายปีต่อเนื่องมาประเทศไทยต้องเจอปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 จากพาหนะขนส่งเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของคนไทย ทีมจึงได้สร้าง “โมเดลรถท่องเที่ยวรักษ์โลก” เป็นรถบริการนักท่องเที่ยวขนาดเล็ก ดีไซน์ลวดลายไทยสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดแทนเชื้อเพลิงน้ำมันปิโตรเลียมที่ปล่อยมลพิษทางอากาศ หากทุกคนร่วมมือกันใช้พลังงานแสงอาทิตย์กันทั่วเมือง ก็จะช่วยให้อากาศสะอาดและปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยวและเราทุกคนด้วยค่ะ
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit