4 นักวิชาการคว้ารางวัล TTF AWARD 2563 มธ.-มูลนิธิโตโยต้าฯ หนุนสร้าง'สังคมแห่งความรู้’

17 Aug 2020

พิธีมอบรางวัล TTF AWARD ประจำปี 2562-2563 จัดยิ่งใหญ่ เผย 4 ผลงานค้นคว้าวิจัย สู่ตำราวิชาการ ปลุกสังคมแห่งความรู้สมัยใหม่และประเด็นสาธารณะ อาทิ สิทธิเสรีภาพการทำแท้ง และโรคสมาธิสั้นในเด็กไทย เชื่อเป็นพลังขับเคลื่อนสู่ความคิดใหม่ๆ ที่ไม่หยุดยั้ง

4 นักวิชาการคว้ารางวัล TTF AWARD 2563 มธ.-มูลนิธิโตโยต้าฯ หนุนสร้าง'สังคมแห่งความรู้’

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย จัดงานมอบรางวัลผลงานวิชาการดีเด่นTTF AWARD ประจำปี 2562-2563 (Toyota Thailand Foundation Award 2020) เพื่อประกาศเกียรติคุณและสนับสนุนผลงานของนักวิชาการไทย ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการรางวัล TTF AWARD เปิดเผยว่า โครงการ TTF AWARD เริ่มมอบรางวัลเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2538 มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพวงวิชาการไทย ด้วยการคัดเลือก ยกย่อง ผลงานที่มีความหนักแน่น ละเอียด และทรงคุณค่าในทางวิชาการ โดยมีคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เป็นผู้อ่านคัดกรองและคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุด

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล TTF AWARD ประจำปี 2562-2563 ทั้ง 4 สาขา ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานวิชาการที่เป็นประโยชน์กับสังคมและวงการศึกษา พร้อมขอขอบคุณ มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ให้การสนับสนุนมอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้มาโดยตลอด”

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย กล่าวว่า TTF AWARD เป็นรางวัลที่ส่งเสริมกำลังใจแก่นักวิชาการที่อุทิศตน ค้นคว้าผลงานเพื่อยกระดับมาตรฐานตำราวิชาการ ให้เป็นแหล่งข้อมูลศึกษาหาความรู้มากขึ้น และส่งเสริมสังคมไทยให้เป็น“สังคมแห่งความรู้” โดยมีผลงานวิชาการดีเด่นที่ได้รับรางวัลและจัดพิมพ์เผยแพร่ไปแล้วกว่า 60 เล่ม

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัล TTF AWARD จะเป็นพลังให้นักวิชาการไทยสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ที่ทรงคุณค่าเท่าทันยุคสมัยและเป็นประโยชน์ทางภูมิปัญญา แก่สังคมไทยสืบไป”

รางวัล TTF AWARD ครั้งที่ 18 ในปีนี้ มีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 4 ท่าน ประกอบด้วย 1.ด้านสังคมศาสตร์ผลงานเรื่อง “เถียงกันเรื่องแท้ง : สุขภาพ เสรีภาพ ศีลธรรม” ของ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. ด้านมนุษยศาสตร์ผลงานเรื่อง “เจดีย์ในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการและพลังศรัทธา” ของ ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

3. ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ผลงานเรื่อง “โรคสมาธิสั้น” ของ รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ 4. ด้านสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีผลงานเรื่อง “เอนไซม์ย่อยอาหารในสัตว์น้า” ของ รศ.ดร.การุณ ทองประจุแก้ว คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ด้าน รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ เจ้าของผลงาน “เถียงกันเรื่องแท้ง : สุขภาพ เสรีภาพ ศีลธรรม” กล่าวว่า หนังสือได้นำเสนอภาพการดำเนินการทางการเมืองในประเด็น “ยุติการตั้งครรภ์” ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 จากมุมมองของตัวแสดงทางการเมืองที่หลากหลาย กระบวนการนโยบายสาธารณะของไทย กรอบและนำเสนอประเด็นของฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมในการถกเถียงและลักษณะเฉพาะของสังคมไทยในเรื่องการท้องไม่พร้อมและการเลือกยุติการตั้งครรภ์ ที่จะนำไปสู่การร่วมกันคิดหาทางออก

“ผู้อ่านผลงานชิ้นนี้ นอกจากจะได้เสพงานที่หลากหลาย และมีฐานจากงานวิจัยหรือการค้นคว้าแล้ว ยังทำให้ผู้สร้างผลงานไม่ท้อถอยที่จะทำงานใหม่ๆ นำเสนอความรู้ เพื่อการคิดและถกเถียงประเด็นต่างๆ ในสังคมไทยต่อไป”

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของผลงาน “เจดีย์ในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการและพลังศรัทธา” กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมของเจดีย์ในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่แรกรับวัฒนธรรมพุทธศาสนา คือ สมัยทวารวดี จนมาถึงปัจจุบัน ด้วยการนำเสนอรูปแบบของเจดีย์แบบต่างๆ ที่มา และวิวัฒนาการ วิเคราะห์แนวคิด คติ และศรัทธาในการสร้าง แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคม วัฒนธรรม ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของชาติและศาสนา

“การค้นคว้าครั้งนี้มีประโยชน์ต่อการศึกษางานศิลปกรรม การเรียนการสอน การวิจัย ทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และศาสนา มีความรู้และความเข้าใจถึงรูปแบบและพัฒนาการของเจดีย์ในแต่ละยุคสมัย นำไปใช้ในงานบูรณปฏิสังขรณ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ เพิ่มคุณค่า มูลค่าทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม”

รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของผลงานเรื่อง “โรคสมาธิสั้น” กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กไทยวัยเรียนถึงร้อยละ 5-8 หรือประมาณ 600,000–960,000 คน กำลังป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น ก่อให้เกิดปัญหาการเรียน การเข้าสังคม ปัญหาอารมณ์และพฤติกรรม หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ยังเล็กอาจส่งผลกระทบตามมา ผู้เขียนพยายามค้นคว้า รวบรวม กลั่นกรองงานวิจัยทั้งในอดีตและปัจจุบันจำนวน 1,000 กว่าฉบับ ผนวกกับประสบการณ์ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นกว่า 20 ปี และงานวิจัยของผู้เขียนเอง ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานชิ้นนี้ จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ และทางการศึกษา เข้าใจและให้ความช่วยเหลือเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นได้เป็นอย่างดี

รศ.ดร.การุณ ทองประจุแก้ว คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าของผลงานเรื่อง “เอนไซม์ย่อยอาหารในสัตว์น้ำ” กล่าวว่า อาหารจัดเป็นต้นทุนผันแปรที่มีมูลค่าสูงที่สุดในกระบวนการผลิตสัตว์น้ำ ดังนั้น การนำองค์ความรู้ด้านเอนไซม์ย่อยอาหารเข้ามาใช้ จึงช่วยลดต้นทุนค่าอาหารและลดปริมาณของเสียจากอาหารที่สัตว์น้ำกินไม่หมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีและนักวิชาการที่สนใจ รวมทั้งผู้ประกอบการต่าง ๆ เช่น โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฯลฯ สามารถนำความรู้ (Knowhow) หรือ เคล็ดลับ (Trick) ไปประยุกต์ใช้ได้โดยตรง

“ขอบคุณมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้พิจารณาคัดเลือกหนังสือ “เอนไซม์ย่อยอาหารในสัตว์น้ำ” ให้ได้รับรางวัลในครั้งนี้ และขอให้คำมั่นว่าจะพัฒนาผลงานทางวิชาการอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมเป็นกำลังใจให้นักวิชาการทุกท่าน สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการที่ทรงคุณค่าต่อไป”