สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับมูลนิธิเอสซีจีซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่เสริมสร้างศักยภาพเด็กและเยาวชน และบริษัทผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้าง จำกัด หรือ ซีแพค (CPAC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้นำตลาดซีเมนต์และคอนกรีต ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการอาชีวะฝีมือชน สู่ช่างมืออาชีพ” ณ ห้องประชุม 5 สอศ.
นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ความร่วมมือในโครงการอาชีวะฝีมือชน สู่ช่างมืออาชีพ มีระยะเวลา 1 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาโดยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะวิชาชีพให้นักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาสังกัดสอศ. ที่เปิดสอนสาขาวิชาช่างก่อสร้าง และช่างโยธา ให้มีความรู้ ทักษะและประสบการณ์จากการทำงานจริง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและได้มาตรฐานระดับสากล โดยซีแพค จะจัดการอบรมให้ความรู้งานด้านคอนกรีตเทคโนโลยีทั้งภาคทฤษฎีและปฎิบัติในงานก่อสร้าง รวมถึงความรู้ด้านอื่น ๆ ได้แก่ การรับงาน การคิดต้นทุน ความปลอดภัยในการทำงาน การบำรุงรักษาเครื่องมือให้แก่นักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษาสังกัดสอศ. ที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมกับมอบหมายงานเพื่อให้เกิดประสบการณ์วิชาชีพจากการทำงานหน้างานจริง ตลอดจนจัดอบรมให้ความรู้ ด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างและ Construction Solutionให้กับครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนนักศึกษา ในสาขาช่างก่อสร้างและช่างโยธา สำหรับมูลนิธิเอสซีจี จะสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมืองานคอนกรีตสำหรับใช้ในการเรียนการสอนให้กับสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการอาชีวะฝีมือชน สู่ช่างมืออาชีพ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ วิทยาลัยเทคนิคลำปาง วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี วิทยาลัยเทคนิคดุสิต วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต และวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่
นางสาวสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี เปิดเผยว่า ด้วยตระหนักว่าผู้สำเร็จการศึกษาสายอาชีวะ เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งภาคอุตสาหกรรม และการบริการ SCG มูลนิธิเอสซีจี รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม จึงได้ร่วมมือกันทำงานเชิงรุกในโครงการสานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา (Competitive Workforce) เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาและการสร้างอาชีวศึกษาให้มีความเป็นเลิศ เพิ่มคุณภาพผู้ เรียน นับแต่นั้นเราไม่เคยหยุดสนับสนุนการดำเนินงานของอาชีวะ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ และแม้ว่าในภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ น้อยลง ไม่เว้นแม้แต่ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่กลับมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะฝีมือ มีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นมืออาชีพ ในงานซ่อมแซมต่อเติม งานรับเหมาขนาดกลางและขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น และด้วยเจตนารมณ์ของการดำเนินโครงการที่สร้างประโยชน์ให้แก่การศึกษา รวมถึงสร้างบุคลากรมืออาชีพที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ มูลนิธิเอสซีจี จึงได้เข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยในงานก่อสร้าง อาทิ เครื่องขัดมันแบบเครื่องยนต์ เครื่องตบดิน กรรไกรตัดเหล็ก เครื่องตั้งระบบเลเซอร์ เกรียงยาว แบบหล่อ CUBE รถเข็นปูน แบบหล่อเหล็กตัวซี เครื่องจี้คอนกรีต เครื่องแต่งผิวหน้าคอนกรีต ตะกร้อตบดิน อุปกรณ์เซฟตี้และอื่นๆ เพื่อใช้ในการเรียน การสอน แก่วิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 11 แห่ง
นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง บริษัทผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้าง จำกัด หรือ ซีแพค (CPAC) กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดขึ้นโดยซีแพคได้มีโอกาสเข้าไปสอนเรื่องคอนกรีตเทคโนโลยีให้กับนักศึกษาแผนกโยธาและแผนกก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช ในภาคทฤษฎีเป็นประจำทุกปี จากการเข้าไปสอนพบว่านักศึกษากลุ่มหนึ่งต้องการมีรายได้ระหว่างเรียนและอยากมีประสบการณ์จากการทำงานจริง ขณะเดียวกันมีลูกค้าของซีแพคบางส่วนที่มาซื้อคอนกรีตแต่ไม่มีช่างและขอให้ซีแพคช่วยแนะนำช่างให้ด้วย จึงได้มีแนวคิดที่จะพัฒนานักศึกษาเหล่านี้ให้สามารถทำงานได้จริงและมีความรู้เกี่ยวกับการทำงานคอนกรีตที่ถูกวิธี ซึ่งได้จัดการอบรมและแชร์ประสบการณ์ในการทำงานโดยวิศวกรและช่างในพื้นที่ของซีแพค พร้อมทั้งจัดให้มีการลงมือปฎิบัติจริงในสถานที่ทำงานจริงของลูกค้า โดยเจ้าของงานเป็นผู้ออกค่าวัสดุและค่าแรงให้กับนักศึกษาที่ทำงานและได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำงานจากมูลนิธิเอสซีจี นอกจากนี้นักศึกษายังได้รับความรู้เรื่องต้นทุน งานการตลาด การหาลูกค้า การสำรวจหน้างาน งานประมาณราคาและการทำบัญชี ฯลฯ เพื่อให้สามารถรับเหมางานเองผ่านชมรมวิชาชีพก่อสร้างของวิทยาลัย จากการดำเนินโครงการฯ พบว่าได้รับผลตอบรับดี ชมรมฯ สามารถรับงานได้เดือนละ 2-3 งาน ในวันเสาร์-อาทิตย์และช่วงวิทยาลัยปิดเทอม นักศึกษาจะมีประสบการณ์ทำงานจริง และมีรายได้ระหว่างเรียน เฉลี่ย 350 บาท/วัน /คน โดยปัจจุบันมีการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติแก่นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการไปแล้ว ประมาณ 300 คน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีนักศึกษาที่สามารถไปทำงานจริงทั้งรับงานเองโดยตรงและผ่านวิทยาลัยแล้วกว่า 90 คน ซึ่งถือเป็นความภูมิใจและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
“ทั้งนี้ สอศ.เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านวิชาชีพ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้เกิดช่างก่อสร้าง และช่างโยธาที่มีความรู้ ประสบการณ์ และทักษะวิชาชีพตามมาตรฐานสากล ตอบโจทย์ความต้องการแรงงานช่างมืออาชีพ” เลขาธิการคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา กล่าวทิ้งท้าย