ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดผลสำรวจพบโควิด–19 ฉุดการเคลื่อนไหวร่างกายหรือการมีกิจกรรมทางกายในกลุ่มผู้สูงอายุ ลดฮวบ เหลือร้อยละ 52.9 ต่ำสุดในรอบ 9 ปี พร้อมประสานพลังสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำคู่มือ “กิจกรรมทางกายประจำบ้าน” สำหรับทุกกลุ่มวัย ตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ร่วมขับเคลื่อนโครงการเปิดเมือง ปลอดภัย เร่งฟื้นกิจกรรมทางกายผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งในมิติความแข็งแรงของร่างกายและสร้างภูมิคุ้มกันโรค
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากผลสำรวจการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย พบว่า ในปี 2563 ระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด–19) ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมทางกายลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 52.9 โดยลดลงจากปี 2562 ถึงร้อยละ 20.5 และนับว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 9 ปี ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวนี้เป็นสัญญาณเตือนทางสุขภาพที่ควรเร่งให้ความสำคัญในการฟื้นฟูระดับให้กลับมาคงเดิมด้วย “คู่มือ “กิจกรรมทางกายประจำบ้าน”
จากวิกฤตโควิด–19 ที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลประกาศมาตรการ “ล็อกดาวน์” ในช่วงเดือนมีนาคมเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด จนกระทั่งสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง จึงได้เริ่มผ่อนคลายให้กิจการและกิจกรรมต่างๆ กลับมาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อร่วมกันเปิดเมือง ปลอดภัย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บ้านกลายเป็นฐานสำหรับการดำเนินชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบของ New Normal ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำคู่มือ “กิจกรรมทางกายประจำบ้าน” สำหรับประชากรทุกกลุ่มวัย เพื่อตอบโจทย์และสอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ที่ยังคงให้บ้านเป็นสถานที่สำหรับการมีกิจกรรมทางกายอย่างปลอดภัย
ขณะที่ นายปัญญา ชูเลิศ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำสำหรับการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ คือ ควรมีกิจกรรมทางกายที่ต้องเคลื่อนไหวออกแรงระดับปานกลาง อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือกิจกรรมทางกายระดับหนัก อย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์ โดยสามารถมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางและหนักผสมผสานกันได้ตามความเหมาะสม ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายที่บ้านสำหรับผู้สูงอายุสามารถสร้างประโยชน์หลัก 3 ด้าน คือ 1.สร้างความสมดุลและป้องกันการหกล้ม เช่น ยืนขาเดียวสลับกันเพื่อทรงตัว ยืนย่ำเท้าอยู่กับที่ และยืนดันพื้นกับผนังห้อง 2.เพิ่มความคล่องแคล่วและเสริมทักษะการดูแลตนเอง เช่น ก้าวขึ้น–ลงบันได นั่งแตะปลายเท้า และนั่งหมุนลำตัวไปด้านข้าง และ 3.เพิ่มความแข็งแรงของระบบหัวใจไหลเวียนเลือด กล้ามเนื้อ และรูปร่างกระชับ เช่น ลุก–นั่ง ก้นแตะเก้าอี้ นั่งงอตัว และยกเข่าแตะบอลหรือขวดน้ำ 1.5 ลิตร ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอในกลุ่มผู้สูงอายุจะช่วยยกระดับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดภาวะอัมพฤกษ์อัมพาต รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการมีชีวิตที่ยืนยาว
“การมีกิจกรรมทางกายเปรียบเสมือนยาสามัญประจำบ้าน ที่ทุกครอบครัวควรทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ และทราบวิธีการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีกิจกรรมทางกายหลายประเภทที่สามารถทำร่วมกันได้ทั้งกลุ่มเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอไม่จำเป็นต้องทำต่อเนื่องให้ครบตามเวลาในครั้งเดียว แต่สามารถแบ่งเวลาทำครั้งละอย่างน้อย 10 นาทีขึ้นไป แล้วสะสมเวลารวมให้ครบต่อสัปดาห์ก็ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน ทั้งในมิติความแข็งแรงของร่างกาย การสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ เพิ่มสรรถนะในการทำงาน มีสุขภาพจิตและอารมณ์ดี ช่วยกระตุ้นและยกระดับการเรียนรู้ ทั้งยังทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย” นายปัญญา กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด “คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน” ได้ที่ https://bit.ly/3gCsDiH หรือติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ที่ https://tpak.or.th
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit