ครั้งแรกในเอเชีย ม.มหิดลสร้างนวัตกรรม " PM2.5 Footprint Calculator" ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมโลก

20 Nov 2020

วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้เป็น "วันสิ่งแวดล้อมไทย" ตามที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) มีพระราชดำรัสห่วงใยปัญหาสิ่งแวดล้อมไทย

ครั้งแรกในเอเชีย ม.มหิดลสร้างนวัตกรรม " PM2.5 Footprint Calculator" ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมโลก

"จริยธรรมสิ่งแวดล้อม" คือ หลักพึงปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โลกดำรงอยู่ได้อย่างมีดุลยภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับหลักจริยธรรมการวิจัย (Research Integrity) ซึ่งจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและต่อยอดผลวิจัยให้เกิดคุณูปการสู่มวลมนุษยชาติได้ต่อไปในอนาคต

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานวิจัยที่มีคุณค่าตามหลักจริยธรรมการวิจัย (Research Integrity) ส่งผลต่อคะแนนในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดยจะต้องมี "ทิศทางที่เป็นบวกในสิ่งที่ถูกต้อง" และ "ทิศทางเป็นลบในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง" ซึ่งจะส่งผลกระทบในการอ้างอิง (Citation) เพื่อการนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้ต่อไปในอนาคต

เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการประกาศมอบทุนอุดหนุนโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม พ.ศ.2563 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยสู่นโยบายระดับประเทศ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ตระการ ประภัสพงษา ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็น 1 ใน 5 ผู้วิจัยที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนดังกล่าว จากโครงการ "การเสริมสร้างความตระหนักรู้และการออกแบบนโยบายเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ และต้นทุนทางสุขภาพของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการขนส่งผู้โดยสารในประเทศไทย"

รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่ามหาวิทยาลัยมหิดลมีจุดแข็งด้านการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งในการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องฝุ่น PM2.5 จะเห็นได้ว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความแตกต่างตรงที่เรามีการวิจัยถึง "ผลกระทบที่มีต่อสุขภาพมนุษย์" ซึ่งจะสามารถช่วยชี้นำสังคมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยเรามุ่งเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" หรือ "Wisdom of the Land" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการขับเคลื่อนงานวิจัยให้ส่งผลกระทบ (Impact) ที่ตอบโจทย์ในระดับนโยบายของประเทศและขยายผลสู่ระดับสากลต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ตระการ ประภัสพงษา ผู้วิจัย กล่าวว่า ในการจะทำให้งานวิจัยได้รับความเชื่อมั่นจะต้องมีผลการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ผ่านวารสารทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ ก่อนที่จะนำผลการวิจัยไปใช้ให้เกิด Impact หรือผลกระทบที่เป็นมาตรฐานต่อไป โดยโครงการที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนนี้ เป็นโครงการที่มีความร่วมมือในระดับนานาชาติจาก Technical University of Denmark (DTU) ซึ่งเป็นสถาบันโพลีเทคนิคแห่งแรกของประเทศเดนมาร์ก และได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของสถาบันวิศวกรรมชั้นนำของยุโรป และยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยโครงการฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในส่วนของ Carbon Footprint หรือ ผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ Water Footprint หรือ การวัดผลกระทบจากการใช้น้ำ แต่ยังไม่พบว่ามี "PM2.5 Footprint" เพื่อดูผลกระทบที่มีต่อสุขภาพมนุษย์ โดยโครงการที่เราทำขึ้นนี้จะเป็นการสร้างนวัตกรรม "PM2.5 Footprint Calculator" หรือ การคำนวณผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ตามหลักการของแนวคิดริเริ่มวัฏจักรชีวิตภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับ สมาคมพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมและเคมี (UNEP/SETAC life cycle initiative) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรระดับโลกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสำรวจและประเมินแนวโน้มที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยเฟสแรกจะจัดทำเป็นเว็บไซต์ และขยายผลจัดทำเป็นแอปพลิเคชัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในเอเชีย

รองศาสตราจารย์ ดร.ตระการ ประภัสพงษา อธิบายว่า ฝุ่น PM2.5 เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เกิดจากการเผาไหม้ โดยเครื่องมือที่คิดค้นขึ้นนี้จะดูการไหลของมลพิษ ในเบื้องต้นจะศึกษาข้อมูลจากการขนส่งผู้โดยสารในประเทศไทย แล้วดูผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 เป็นจำนวน "ปีสุขภาวะที่สูญเสีย" หรือ การวัดสถานะทางสุขภาพของประชากรแบบองค์รวมว่าสูญเสียไปเท่าใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร ซึ่งยิ่งมากยิ่งส่งผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานครจะได้รับผลกระทบมากกว่าเขตต่างจังหวัด อย่างไรก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะฝุ่น PM2.5 ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอด โดยทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครจะพบมากในช่วงที่อากาศปิดในช่วงฤดูหนาวซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป

ในการทำวิจัยได้มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบทุติยภูมิจาก กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้นักศึกษาปริญญาโทและเอกหลักสูตรนานาชาติของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานวิจัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนประเมินวัฏจักรชีวิต จากนั้นจะร่วมกับ ศูนย์เครือข่ายการจัดการคุณภาพอากาศแห่งประเทศไทย (TAQM) เพื่อกระจายข่าวสาร ข้อมูล ตลอดจนหาความร่วมมือ และระดมความคิดเห็นต่อไป

ซึ่งการวิจัยจะไม่ใช่เพียงแค่ "Research for Research" แต่เป็น "Research to Impact" หรือ "Research for Implementation" ซึ่งเป็นการวิจัยเพื่อหวังผลกระทบที่ตอบโจทย์ โดยจะมีการต่อยอดกับภาคเอกชนเพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้ทำเพียงเพื่อให้เกิด "การตระหนักรู้" แต่หวังผลที่จะผลักดันให้เกิด "นโยบายที่ใช้ได้จริง" ในระดับประเทศ และระดับสากลต่อไป

ครั้งแรกในเอเชีย ม.มหิดลสร้างนวัตกรรม " PM2.5 Footprint Calculator" ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมโลก