พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (State-owned Enterprise Award : SOE Award) ประจำปี 2563 ภายใต้แนวคิด "รัฐวิสาหกิจร่วมใจ ไทยปลอดภัยเข้มแข็ง" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง เพื่อสนับสนุนรัฐวิสาหกิจที่มีความสามารถในการปรับตัวและบริหารจัดการผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563
ในโอกาสดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้มอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นให้แก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) จำนวน 3 รางวัล ประกอบด้วย
รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น ได้แก่ นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK โดยพิจารณาจากการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น มีคะแนนผลการดำเนินงานองค์กร ปี 2562 ตั้งแต่ 4.5 คะแนนขึ้นไป รวมทั้งผลประกอบการตามภารกิจ ผลประกอบการทางการเงิน การดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล การบริหารจัดการ วิสัยทัศน์ของผู้นำ การถ่ายทอดวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติ บทบาทของผู้นำในการสร้างกลยุทธ์ที่ทำให้ประสบความสำเร็จ การให้ความสำคัญและการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคม (CG & CSR) การให้ความสำคัญและการดำเนินการเพื่อพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน การนำประเด็น Thailand 4.0 มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ
นอกจากเกณฑ์การพิจารณาข้างต้นแล้ว ผลงานของกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ที่สำคัญ อาทิ การบริหารจัดการและจัดให้มีมาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ในภาวะวิกฤต เช่น มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การออกผลิตภัณฑ์และมาตรการพิเศษทั้งด้านการเงินและมิใช่การเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบและป้องกันความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศในภาวะวิกฤตต่าง ๆ อาทิ สงครามการค้าและเงินบาทแข็งค่า การพัฒนาองค์กรเพื่อเป็นที่พึ่งและสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ แก่ผู้ประกอบการ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศตลาดใหม่ การสนับสนุนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อยกระดับศักยภาพและนวัตกรรมของภาคธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้รับรางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น
รางวัลความสามารถในการจัดการวิกฤตโควิด-19 ดีเด่น เป็นรางวัลพิเศษที่ สคร. มอบให้รัฐวิสาหกิจในปี 2563 สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีความโดดเด่นในการบริหารจัดการวิกฤติโควิด-19 มีการเตรียมความพร้อมและดำเนินการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลพนักงาน ลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกและลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงชุมชนและสังคมได้อย่างเหนือความคาดหมาย ตั้งแต่การบริหารจัดการองค์กรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้าสู่สังคม มีมาตรการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยในระดับที่เข้มข้นกว่ามาตรการของภาครัฐ มีผลทำให้ไม่มีบุคลากรและผู้เช่าอาคารของ EXIM BANK เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 จัดทำแผนสำรองฉุกเฉินในทุกสถานการณ์เพื่อให้สามารถดูแลและให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยติดต่อไปยังลูกค้าทุกรายเพื่อสอบถามความต้องการความช่วยเหลือ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าด้วยการพักการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เปิดคลินิกให้คำปรึกษาและแนะนำทางการเงินแก่ผู้ประกอบการทั่วไปทางโทรศัพท์ และจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ สนับสนุนธุรกิจเกษตรผ่านเครือข่ายพันธมิตร รวมทั้งดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม โดยร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ส่งมอบความช่วยเหลือไปยังชุมชนและสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงและขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ภายใต้โครงการ "EXIM ร่วมใจสู้ภัยโควิด" เพื่อให้ทุกภาคส่วนก้าวผ่านสถานการณ์ความยากลำบากจากผลกระทบของโควิด-19 ไปด้วยกัน
รางวัลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาดีเด่น ด้านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ประเภทดีเด่น เป็นรางวัลที่มอบให้แก่รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกลุ่มการพิจารณารางวัลที่รัฐวิสาหกิจส่งเข้าประกวด เป็นรางวัลความร่วมมือของรัฐวิสาหกิจเพื่อสนับสนุนการดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์ของแต่ละองค์กร โดย EXIM BANK ได้รับรางวัลร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ใน "โครงการส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)" ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานใช้ความสามารถพิเศษหรือจุดแข็งของทั้งสามองค์กรร่วมกันพัฒนาผู้ประกอบการภาคการเกษตรผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมและส่งออกได้ กล่าวคือ ธ.ก.ส. มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร วว. สนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และ EXIM BANK ใช้องค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศเสริมสร้างความรู้ จับคู่ธุรกิจให้ผู้ประกอบการภาคเกษตรที่มีสินค้านวัตกรรมหรือมีมูลค่าเพิ่มสามารถส่งออกได้สำเร็จ ผลการดำเนินงานโครงการจนถึงปัจจุบันในปี 2563 สามารถสร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตรที่มีศักยภาพส่งออก ได้รับมาตรฐานการรับรองผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และได้รับการต่อยอดให้มีองค์ความรู้ด้านการส่งออก ตลอดจนจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ จนทำให้ผู้ประกอบการภาคการเกษตรเจรจาค้าขายระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้าได้ เป็นมูลค่าการส่งออกราว 597.82 ล้านบาท
"รางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจที่ EXIM BANK ได้รับจำนวน 3 รางวัลในปีนี้เป็นผลสำเร็จร่วมกันของคณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร พนักงาน และบุคลากร EXIM BANK ในการทำงานกับทุกภาคส่วนตามภารกิจหน้าที่อย่างดีที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนจากลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ประกอบการ และสาธารณชนที่ให้ความเชื่อมั่นและสนับสนุนการดำเนินงานของ EXIM BANK ด้วยดีเสมอมา ทั้งนี้ โดยสอดคล้องกับแผนแม่บทปี 2570 และกระบวนการปรับเปลี่ยนองค์กร (Transformation) ที่ EXIM BANK เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อส่งมอบผลลัพธ์ที่ดี สร้างการเติบโตของ EXIM BANK ควบคู่กับการเติบโตของภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมั่นคงและยั่งยืน" นายพิศิษฐ์ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit