ฟิทช์ ปรับแนวโน้มเครดิต KCE เป็นลบ คงอันดับเครดิตที่ 'A-(tha)’

11 May 2020

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE เป็นลบจากมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัทฯ ที่ 'A-(tha)’

การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบสะท้อนถึงความเสี่ยงที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจทำให้ต่อการฟื้นตัวของรายได้และความสามารถในการทำกำไรของ KCE ที่อาจจะใช้เวลานานจนถึงปี 2565 ฟิทช์คาดว่ารายได้ในรูปเงินบาทจะฟื้นตัวกลับไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเหตุการณ์โควิด-19 และมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ที่ระดับสูงกว่าร้อยละ 13 ในปี 2564  อย่างไรก็ตามหากการฟื้นตัวของรายได้และอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ดังกล่าวที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้อาจแสดงถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทฯ ที่อ่อนแอลง และอาจส่งผลกระทบทางลบต่ออันดับเครดิต

การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า KCE จะสามารถรักษาสถานะหนึ่งในผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์รายใหญ่ ซึ่งมีสถานะทางการเงินที่แข็งแรง ฟิทช์เชื่อว่า บริษัทฯ จะยังคงสามารถสร้างอัตราส่วนกระแสเงินสดสุทธิต่อรายได้ (Free cash flow margin) ในระดับสูงกว่าร้อยละ 3 โดยมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายลงทุนและการจ่ายเงินปันผลอย่างเหมาะสม ถึงแม้รายได้และกำไรของบริษัทฯ อาจจะอ่อนแอลงจากปีก่อน อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO Net Leverage) ของ KCE น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแรง ต่ำกว่า 1.5 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

รายได้ลดลงจากโควิด-19  – ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ KCE จะลดลงร้อยละ 20-25 ฟิทช์คาดว่าอัตราการฟื้นตัวของผลประกอบการน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอาจใข้เวลา 2-3 ปีที่รายได้จะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายอย่างที่กดดันอุตสาหกรรมและสายการผลิตรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็น อุปสงค์ที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ความเสี่ยงทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษจากเชื้อเพลิง รวมถึงค่าปรับต่างๆ ที่ผู้ผลิตรถยนต์ในทวีปยุโรปอาจต้องเสียจากเรื่องนี้ นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาน้ำมันยังอาจทำให้การเปลี่ยนมาใช้ระบบรถยนต์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์สันดาปแบบเดิมมีความล่าช้า

อัตราส่วนกำไรที่ลดลง – ฟิทช์คาดว่า EBITDA Margin ของ KCE จะลดลงมาอยู่ร้อยละ 8-10 ในปี 2563 (2562: ร้อยละ 15)  จากประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำลงจากยอดขายที่ลดลง โดย EBITDA Margin น่าจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 14-16 ในปี 2565 เป็นต้นไป เมื่อสถาณการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ฟิทช์มองว่าการเพิ่มขึ้นของการใช้กำลังการผลิตของโรงงานใหม่ และการเพิ่มสัดส่วนการผลิตแผ่นพิมพ์วงจรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความซับซ้อน (HDI) ซึ่งมีอัตรากำไรที่ค่อนข้างสูงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของอัตรากำไรของ KCE ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ถึงแม้ฟิทช์จะไม่คิดว่า EBITDA Margin ของบริษัทฯ จะกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 20 เหมือนในอดีตก็ตาม

อัตรากำไรที่มีความอ่อนไหวต่อค่าเงินบาท – ธุรกิจของ KCE มีความเสี่ยงสูงจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งส่งผลให้อัตรากำไรมีความผันผวนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ส่งออก รายได้และกำไรจะลดเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากประมาณร้อยละ 80-90 ของรายได้ อยู่ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ  ในขณะที่ร้อยละ 50-60 ของต้นทุนอยู่ในรูปเงินบาท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้ การลดลงของปริมาณการผลิตทำให้อัตรากำไรลดลงจากต้นทุนคงที่ ยกตัวอย่างเช่น จากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 4 และปริมาณการขายลดลงร้อยละ 11 ส่งผลให้ EBITDA Margin ลดลงเป็นร้อยละ 15.4 ในปี 2562 จากร้อยละ 20.2 ในปี 2561

สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง – ฟิทช์คาดว่า KCE จะยังคงรักษาอัตราส่วนหนี้สินในระดับที่แข็งแกร่ง ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ถึงแม้กำไรของบริษัทจะลดลง โดยอัตราส่วนหนี้สิน ณ ปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำ (2562: FFO Net Leverage อยู่ที่ 0.5 เท่า) และความสามารถในการสร้าง free cash flow margin ในระดับสูงกว่าร้อยละ 3 จะช่วยลดผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ในช่วงที่สภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานมีความท้าทาย อย่างไรก็ตาม ประมาณการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานว่า บริษัทจะมีการใช้จ่ายลงทุนและจ่ายเงินปันผลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกระแสเงินสดของบริษัท

ผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรฯ รถยนต์รายใหญ่ – อันดับเครดิตของ KCE สะท้อนถึงการเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีวงจรสินค้าที่ค่อนข้างยาว และต้องอาศัยความผูกพันกับลูกค้าในการได้มาซึ่งยอดขาย ทำให้เป็นธุรกิจที่มีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม (High Barrier to Entry) มากกว่าเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสินค้าบริโภคทั่วไป (Consumer Electronics) KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรสำหรับยานยนต์รายใหญ่ของโลก โดยมีส่วนแบ่งด้านรายได้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5  

โอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมแผงวงจรรถยนต์นี้ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาว แม้ว่าจะมีความผันผวนจากภาวะเศรฐกิจในระยะสั้น นวัตกรรมด้านยานยนต์ต่างๆ เช่น ระบบความปลอดภัย ระบบผู้ช่วยคนขับ ระบบความบันเทิงภายในรถยนต์ (Infotainment) ซึ่งเดิมเคยเป็นระบบที่ติดตั้งเฉพาะในรถยนต์หรู แต่ปัจจุบันกลายเป็นระบบมาตรฐานสำหรับรถยนต์ทั่วไป

การกระจุกตัวของรายได้ที่ลดลง – ความพยายามของ KCE  ที่จะเพิ่มสัดส่วนสินค้า HDI ซึ่งรวมถึงสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่รถยนต์ จะช่วยลดการกระจุกตัวของรายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในอนาคต โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีการกระจุกตัวของลูกค้ารายใหญ่ 5 รายแรกในสัดส่วนร้อยละ 50 ของรายได้แผ่นพิมพ์วงจรในปี 2562 ลดลงจากร้อยละ 65 ในปี 2553

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

KCE มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า สถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของ KCE มีความใกล้เคียงกันกับของ บมจ. โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) (PTL, อันดับเครดิต A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) PTL เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดในโลกตามรายได้ PTL ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงกว่า โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นแผ่นฟิล์มมาตรฐาน ซึ่งมีความผันผวนด้านราคา และมีการแข่งขันที่สูง ในขณะที่ KCE เน้นผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม PTL มีการกระจายตัวของฐานการผลิตและลูกค้าที่มากกว่า แต่ KCE มี EBITDA Margin และ Free cash flow margin ที่สูงกว่า บริษัททั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วน หนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า ดังนั้นอันดับเครดิตจึงอยู่ในระดับเดียวกัน

บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EPG, อันดับเครดิต A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ KCE ต่างมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ขายสินค้าคนละชนิด  EPG เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถกระบะและรถเอนกประสงค์ที่ทำจากโพลีเมอร์และพลาสติก ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมด EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจและลูกค้าที่มากกว่า โดย EPG มีการกระจายรายได้จากการผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็นและผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม KCE และ EPG  มีขนาดธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน แต่ KCE มี EBITDA Margin และ Free cash flow margin ที่สูงกว่า ด้วยสถานะทางธุรกิจที่เทียบเคียงกันและอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียว อันดับเครดิตของทั้งสองบริษัทจึงเท่ากัน

สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้ลดลงร้อยละ 30 ในปี 2563 (ปี 2562 ลดลงร้อยละ 13.5) จากความต้องการซื้อแผ่นพิมพ์วงจรฯ สำหรับยานยนต์ที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการหยุดดำเนินการผลิตของผู้ผลิตยานยนต์ทั่วโลกในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสในไตรมาส 2 ของปี 2563 รายได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเติบโตในอัตราร้อยละ 13 ในปี 2564 และร้อยละ 5-6 ในปี 2565
  • EBITDA Margin ลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 8-10 ในปี 2563 (ปี 2562 ร้อยละ 15.9) EBITDA Margin เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 14-16 ในปี 2565 จากการฟื้นตัวของอัตราการผลิตและการเพิ่มสัดส่วนการผลิตแผ่นพิมพ์วงจร HDI
  • ราคาทองแดงเฉลี่ยลดลงในปี 2563 จากอุปทานส่วนเกินในตลาด
  • ค่าใช้จ่ายลงทุนสำหรับการซ่อมบำรุงและการปรับปรุงด้านเทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น จำนวน 200-400 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2563-2565 (ปี 2562 ค่าใช้จ่ายลงทุน 634 ล้านบาท)  ไม่มีการลงทุนเขนาดใหญ่พื่อขยายกำลังการผลิต
  • ไม่มีการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในปี 2563-2564

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก

  • แนวโน้มอันดับเครดิตอาจกลับมามีเสถียรภาพได้หาก KCE สามารถรักษาผลการดำเนินงานที่แข็งแรงในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง โดยมี EBITDA Margin เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 13 ในขณะที่ยังคงรักษาอัตราส่วน FFO Net Leverage ต่ำกว่า 1.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยลบ

  • กระแสเงินสดที่ต่ำกว่าที่คาด หรือเงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาด หรือมีการซื้อกิจการ ซึ่งส่งผลให้ FFO Net Leverage ของบริษัทเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • EBITDA Margin ต่ำกว่าร้อยละ 13 อย่างต่อเนื่อง
  • สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง หรือการสูญเสียลูกค้ารายสำคัญ

สภาพคล่อง

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ – ณ สิ้นปี 2562 KCE มีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีจำนวน 1.3 พันล้านบาท โดยหนี้ระยะสั้นดังกล่าวส่วนใหญ่ประกอบด้วยหนี้เพื่อสนับสนุนการส่งออก ส่วนหนี้ระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระในปี 2563 มีจำนวน 259 ล้านบาท บริษัทมีเงินสดจำนวน 1.0 พันล้านบาท และมีสภาพคล่องเสริมจากวงเงินกู้หมุนเวียนที่ยกเลิกได้ (uncommitted facilities) จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท และ 83 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2562

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit