กยท.พร้อมพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพช่องปาก ของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ร่วมกับกรมอนามัย

07 Apr 2020

เมื่อเร็วๆ นี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดย ดร. นภาวรรณ เลขะวิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยางได้ให้การต้อนรับ ดร.ทพญ. เพ็ญแข ลาภยิ่ง และคณะทำงาน กลุ่มพัฒนาระบบทันตสาธารณสุข สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ณ การยางแห่งประเทศไทย บางเขน เพื่อหารือในประเด็นการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน (MOU) และรูปแบบการทำงานร่วมกัน ภายใต้โครงการพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้เพื่อสุขภาพเด็กพิเศษ ปีงบ 63 และพัฒนาระบบการดูแลเด็กปากแหว่งเพดานโหว่และเด็กพิเศษแบบองค์รวมไร้รอยต่อ

กยท.พร้อมพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพช่องปาก ของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ร่วมกับกรมอนามัย

ดร. นภาวรรณ เลขะวิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กล่าวว่า กยท. และสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ได้ร่วมกันหารือในประเด็นการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของสองหน่วยงาน (MOU) และรูปแบบการทำงานร่วมกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภายใต้โครงการพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้เพื่อสุขภาพเด็กพิเศษ ปีงบ 63 และพัฒนาระบบการดูแลเด็กปากแหว่งเพดานโหว่และเด็กพิเศษแบบองค์รวมไร้รอยต่อ: ระยะที่ 2 ของสำนักทันตสาธารณสุข โดย กยท.จะเข้าไปพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้ สุขภาพของบุคลากรและผู้ปกครองด้วยยางพารา ได้แก่ ตุ๊กตาเด็กปากแหว่งฝึกทักษะผู้ปกครองในการให้นมและทำความสะอาดช่องปากเด็ก โดยกระพุ้งแก้มและริมปากมีความยืดหยุ่นให้แหวกได้ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นหุ่นฝึกหัดกรอฟันต่อไปได้ โมเดลภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ซึ่งปรับจากโมเดลของศูนย์การดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยางกัดสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ เพื่อช่วยทำความสะอาดช่องปากและฝึกออกกำลังขากรรไกร ยางกัดสำหรับเด็กใช้ต้นแบบของ ทพญ. ปัทมา โพธิ (วัสดุ thermoplastic elastomer) นอกนี้จากยังครอบคลุมการจัดทำสื่อโมเดลสุขภาพช่องปากอื่นๆ ซึ่งจะมีน้ำหนักเบาและไม่แตกหักง่าย เมื่อเทียบกับโมเดลที่เป็นปูนปลาสเตอร์

ดร. นภาวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า การหารือในครั้งนี้ ดร. วราภรณ์ ขจรไชยกูล ที่ปรึกษาฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง ได้แนะนำให้หาผู้รับจ้างผลิตสื่อดังกล่าวในเชิงพาณิชย์หลังจากจดสิทธิ บัตรแล้ว เพื่อการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง หากมีสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่มีศักยภาพในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเข้ามาผลิตสื่อส่งเสริมความรอบรู้ฯ เหล่านี้ จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรด้วย โดยสำนักทันตสาธารณสุขสามารถจัดซื้อภายใต้โครงการที่เกี่ยวข้องและจะประชาสัมพันธ์ในกลุ่มทันตบุคลากรต่อไป

กยท.พร้อมพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพช่องปาก ของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ร่วมกับกรมอนามัย