สวรส. เปิดเวทีเครือข่ายขับเคลื่อนวิจัยเชิงระบบ เร่งตอบสนองและเชื่อมข้อมูลวิจัยโควิค

07 Apr 2020

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบสุขภาพและสาธารณสุข เร่งจัดประชุมระดมสมอง “การจัดการงานวิจัยเชิงระบบเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ โควิด-19” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสุปัญญา สวรส. อาคารสุขภาพแห่งชาติ    

สวรส. เปิดเวทีเครือข่ายขับเคลื่อนวิจัยเชิงระบบ เร่งตอบสนองและเชื่อมข้อมูลวิจัยโควิค

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโคโรน่า 2019 (โควิด-19) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดสรรงบประมาณวงเงิน 20 ล้านบาท จากงบสำรองกองทุน ให้กับ สวรส. สำหรับสนับสนุนและออกแบบการวิจัยเชิงระบบ โดยในการประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลการวิจัยโควิด-19 จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน การร่วมระบุโจทย์วิจัยเชิงระบบที่ตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดโควิด-19 การประสานความร่วมมือกับหน่วยนโยบาย คือ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยด้านสุขภาพ และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อกำหนดทิศทางการวิจัยระบบสุขภาพในการรับมือการระบาดในภาวะวิกฤติและหลังภาวะวิกฤติ ตลอดจนจัดทำเครือข่ายการวิจัยที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฯ    

“ตัวอย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศอิตาลี ที่มีผู้ป่วยและคนเสียชีวิตจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดการเชิงระบบ ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่สามารถพัฒนาเป็นบทเรียนเพื่อการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันและอนาคตได้ ดังนั้นเพื่อเตรียมการวิจัยเชิงระบบ สวรส. จึงได้นำพิมพ์เขียว (Blueprint) งานวิจัยจากองค์การอนามัยโลก (WHO) มาวิเคราะห์เพื่ออุดช่องว่างโดยระบุโจทย์วิจัยให้ชัดเจนขึ้นในบริบทประเทศไทย  ซึ่งจาก WHO Research Blueprint ใน 9 ประเด็น (ประกอบด้วย 1.เชื้อไวรัสและการวินิจฉัย 2.ปัจจัยสภาพแวดล้อมและพาหะ 3.ระบาดวิทยา 4.การดูแลผู้ป่วย 5.การป้องกันควบคุมการติดเชื้อและการปกป้องบุคลากรด้านสุขภาพ 6.เวชภัณฑ์เพื่อวินิจฉัยและรักษา 7.วัคซีน 8.จริยธรรมการวิจัย 9.การวิจัยด้านสังคมศาสตร์เพื่อการตอบสนองต่อการระบาด) สวรส. ได้ดำเนินการขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องให้มีการนำเสนองานวิจัยที่มีอยู่อย่างเร่งด่วน  โดยรวบรวมมาตรการต่างๆ ทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐศาสตร์/สังคม  เพื่อพัฒนาเป็นฐานข้อมูลวิจัยโควิด-19 ของประเทศ  สำหรับการติดตามสถานการณ์อย่างรอบด้าน นอกจากนั้น สวรส.จะดำเนินการประสานความร่วมมือกับหน่วยบริหารทุนวิจัยของประเทศ เพื่อสนับสนุนทุนวิจัยไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและเน้นการทำงานที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” นพ.นพพร กล่าว    

นอกจากนั้น สวรส. ยังได้เร่งดำเนินการพัฒนางานวิจัยเชิงระบบ ตามองค์ประกอบของกรอบแนวคิดระบบสุขภาพ (6 Building Blocks) โดย ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. ได้นำเสนอกรอบการวิจัยเชิงระบบในการตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ได้แก่ 1.ระบบบริการสุขภาพ อาทิ การวิจัยและพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมของระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ ทั้งในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ขณะเกิดและหลังเกิด เพื่อลดความสูญเสียของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ, การวิจัยเพื่อออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของสถานพยาบาลเพื่อรองรับโควิด-19 ให้มีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่  2.ระบบกำลังคนด้านสุขภาพ อาทิ การจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์หมุนเวียน 3.ระบบข้อมูลสุขภาพ อาทิ การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง ระบบเตือนภัย ระบบประชาสัมพันธ์เพื่อให้ข้อมูลต่อสาธารณะและป้องกันข่าวลวง  4.ระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน อาทิ การวิจัยพัฒนาระบบ logistic เพื่อการกระจายยา/ชุดทดสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมตั้งแต่การเก็บตัวอย่าง การส่ง การตรวจวิเคราะห์, การป้องกันการขาดแคลนชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) 5.ระบบการเงินการคลังสุขภาพ อาทิ มาตรการทางการเงินการคลังที่สนับสนุนระบบสุขภาพในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ขณะเกิดและหลังเกิด, ผลกระทบต่อการเงินการคลังในการจัดการสถานการณ์โควิด-19, รูปแบบการจ่ายเงินในการตรวจคัดกรองและรักษา 6.การอภิบาลระบบสุขภาพ อาทิ การวิจัยเพื่อพัฒนาข้อเสนอการประสานงานระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสั่งการทั้งช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ขณะเกิดและหลังเกิด, การประเมินมาตรการ Social distancing การปิดบางสถานที่ การจำกัดพื้นที่  7.การวิจัยด้านสังคมศาสตร์ อาทิ การวิจัยที่สนับสนุนการพัฒนามาตรการต่างๆที่ควบคุม และลดการตีตราและปฏิบัติไม่เหมาะสม เช่น การเหยียดเชื้อชาติ หรือเหยียดประชาชนในชาติเดียวกันที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาด 8.การวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ อาทิ การวิจัยมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19, มาตรการทางการเงินการคลังเพื่อปกป้องระบบเศรษฐกิจของประเทศ, แนวทางการปรับเปลี่ยนโรงแรมเพื่อเป็นโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยโควิดระยะไม่รุนแรง เป็นต้น    

ทั้งนี้ จากการประชุมดังกล่าว นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุน สวรส. ในการทำงานวิจัยในสถานการณ์เร่งด่วนนี้ โดยเน้นให้เริ่มจากงานวิจัยในรูปแบบ Quick Research, Action Research เพื่อนำเอางานวิชาการหรือหลักฐานเชิงประจักษ์มาใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนให้หน่วยงานระดับนโยบายเลือกใช้ดำเนินงานเดินหน้าต่อการรับมือโรคโควิด-19 ได้ทันท่วงที ตลอดจนนำข้อมูลสะท้อนกลับให้แก่ผู้กำหนดนโยบาย เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมให้ สวรส. เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลด้านวิจัยโควิด -19 เพื่อให้รู้ว่ามีหน่วยงานใดหรือใครทำอะไร ที่ไหน ความพร้อมในการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์  โดยให้มีการรายงานสถานการณ์การวิจัยเป็นระยะอย่างต่อเนื่องต่อไป

HTML::image(