โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง เพื่อลดผลกระทบจากภัยแล้ง

15 Jul 2020

ปัจจุบันวิกฤตการณ์ภัยแล้งที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีพื้นที่ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่สูงกว่า 5 ล้านไร่ ซึ่งหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และเพื่อทำการเกษตร ไม่สามารถเพาะปลูกพืชสร้างรายได้ ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง เพื่อลดผลกระทบจากภัยแล้ง

สถาบันได้เล็งเห็นความสำคัญและได้จัดทำ “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำขนาดเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง” สนับสนุนงบประมาณวงเงินประมาณ 13.8 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ในระดับชุมชน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้แผนที่ดินรายแปลงเป็นเครื่องมือในการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำให้ตรงกับความต้องการของชุมชน และถูกต้องเหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เกิดนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน สถาบันได้ทำการสำรวจพื้นที่ร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลประสบจากปัญหาภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2563 ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง  44 แห่ง 296 ชุมชน 28,725 ครัวเรือน พื้นที่ทำการเกษตรได้รับผลกระทบ 424,963 ไร่ ทั้งนี้ สถาบันได้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จำนวน 180 แห่ง ครอบคลุมในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง  44 แห่ง 85 ชุมชน 10,256 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร 131,821 ไร่ โดยเป็นการพัฒนาอย่างเป็นระบบครบวงจร โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่

  • การกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน วางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ อย่างถูกต้องเหมาะสม
  • การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร
  • การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก และระบบกระจายน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตร
  • ส่งเสริมทำการเกษตรอย่างประณีต ปลูกพืชด้วยระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้น้ำอย่างคุ้มค่า

เป้าหมาย

  • พัฒนาแหล่งน้ำและระบบน้ำ จำนวน 180 แห่ง มอบให้แก่ชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ชุมชนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 85 ชุมชน ทำการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ดูแลรักษาป่าชุมชนและป่าอนุรักษ์ 89,726 ไร่ และปลูกป่าฟื้นฟูระบบนิเวศต้นน้ำ 3,690 ไร่

นอกจากนี้ยังได้รับการบูรณาการของหน่วยงานตามแผนแม่บท อาทิเช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และเกษตรกรในชุมชน ในการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนอย่างถูกต้องเหมาะสมตามระเบียบกฎหมาย และแผนการใช้ที่ดิน ทำให้ชุมชนมีแหล่งน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร เกษตรกรมีทางเลือกในการปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเหมาะสมกับบริบทและภูมิสังคม โดยนำเทคโนโลยี องค์ความรู้โครงการหลวงมาใช้ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถผลิตพืชที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพ ใช้พื้นที่น้อยลง สร้างรายได้ที่พอเพียง ตามความต้องการของตลาด ทำให้ชุมชนมีความมั่นคงทางด้านอาหารและทำการเกษตรที่ควบคู่กับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนและประเทศชาติ ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พบว่า ในพื้นที่ดำเนินงานดังกล่าว มีจุด Hotspot ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเกิดความสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน

โดยในวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 นี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้กำหนดวันจัดกิจกรรมการปลูกป่าฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ บ้านแม่วาก หมู่ที่ 6 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนเครือข่ายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของชุมชน และการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน ร่วมกับหน่วยงานร่วมบูรณาการ