ระธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง และนายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย เผยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เหตุอุตสาหกรรมพึ่งพาการส่งออกสูงถึง 70% คาดใช้เวลา 18 เดือน กว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติ วอนรัฐหามาตรการหนุนใช้สินค้าในประเทศ กระตุ้นการท่องเที่ยว และส่งเสริมผู้ผลิตใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อลดค่าใช้จ่าย ย้ำภารกิจสำคัญ เดินหน้าสร้างการรับรู้คำว่า “หนังแท้” เน้นสร้างความรู้ความเข้าใจด้านความแตกต่างกับ “หนังเทียม” หวังรักษาอุตสาหกรรมฟอกหนัง
นายสุวัชชัย วงษ์เจริญสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย เปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนังในประเทศไทยต้องพึ่งพาการส่งออกถึง 70% ดังนั้น ภาพรวมของอุตสาหกรรมทั้งระบบจึงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคาดการณ์ว่า อาจจะต้องใช้เวลาถึง 18 เดือน กว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติตามการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจ แม้ว่าขณะนี้การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้น มีผู้ติดเชื้อน้อยลง และที่ผ่านมารัฐได้ผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์มากขึ้น แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
“ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนังได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะเราพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก ดังนั้น สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน คือ การส่งเสริมให้ผู้บริโภคใช้สินค้าในประเทศมากขึ้น รวมทั้งต้องมีแผนสำรอง หากห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การจัดเก็บสินค้า การจัดจำหน่าย รวมถึงการขนส่งถึงมือผู้บริโภค อาจจะประสบปัญหาหยุดชะงัก นอกจากนี้ รัฐบาลควรส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอย และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้วัตถุดิบในประเทศ เพื่อลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น และเพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าที่ดีมีคุณภาพอีกด้วย” นายสุวัชชัยกล่าว
สำหรับภารกิจสำคัญอีกประการของกลุ่มอุตสาหกรรมฟอกหนังและผลิตภัณฑ์หนังในขณะนี้ คือ การสร้างการรับรู้เรื่องหนังแท้ให้กับผู้บริโภค เนื่องจากในปัจจุบันมีการขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น ทั้งหนังแท้และหนังเทียม ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดถึงความแตกต่างระหว่างหนังทั้งสองประเภท โดยล่าสุดสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มตระหนักถึงคำว่า “หนังแท้” (Leather) โดยได้ออกกฎหมายเพื่อปกป้องคำว่า “หนังแท้” (Leather) โดยการกำหนดให้สินค้าที่ผลิตจากหนังสัตว์จะสามารถใช้คำว่า “หนังแท้” (Leather) ได้ แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ผลิตด้วยวัสดุสังเคราะห์เทียม จะไม่อนุญาตให้ใช้คำว่า “หนัง” (Leather) อย่างเด็ดขาด
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคได้ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่าง “หนังแท้” กับ “หนังเทียม” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้ความรู้ความเข้าใจ เนื่องจากคุณภาพสินค้าของหนังแท้และหนังเทียม มีความคงทนที่แตกต่างกัน นอกจากเป็นการรักษาคุณค่าของหนังแท้ ที่มีความคงทนแล้ว ยังเป็นการรักษาอุตสาหกรรมฟอกหนังซึ่งเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้คงอยู่ต่อไป
ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ระบุว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกหนังดิบและหนังฟอก คิดเป็นมูลค่า 20,684.16 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังประเทศเวียดนามสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยมูลค่าส่งออก 7,477.85 ล้านบาท ตามมาด้วยจีน ที่มีมูลค่าส่งออก 3,129.82 ล้านบาท และฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 3 ด้วยมูลค่าส่งออก 2,391.76 ล้านบาท ในด้านมูลค่านำเข้าหนังดิบและหนังฟอก อยู่ที่ 17,736.98 ล้านบาท ซึ่งไทยนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกจากต่างประเทศ โดยนำเข้าสูงสุดจากอาร์เจนตินา, สหรัฐอเมริกา และอุรุกวัย
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit