กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี ระดมทุนไม่เกิน 2,800 ล้านบาท เข้าลงทุนในสิทธิประโยชน์การขายไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชีวมวล รวม 25.5 MW

20 Jul 2020

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี หรือ KBSPIF ระดมทุนวงเงินไม่เกิน 2,800 ล้านบาท เข้าลงทุนในสิทธิในผลประโยชน์จากการประกอบกิจการไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด ในอัตราร้อยละ 62 ของรายได้ตามสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าแก่ กฟผ. จำนวนไม่เกิน 22 เมกะวัตต์ (MW) และสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่น้ำตาลครบุรี อีก 3.5 เมกะวัตต์ ตลอดอายุสัญญาประมาณ 20 ปี ตอกย้ำจุดเด่นศักยภาพการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง สร้างความมั่นคงด้านกระแสเงินสดหนุนผลตอบแทนโดดเด่น พร้อมกำหนดจองซื้อหน่วยลงทุนวันที่ 4-7 ส.ค. 2563 นี้ ในราคาหน่วยละ 10 บาท ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี ระดมทุนไม่เกิน 2,800 ล้านบาท เข้าลงทุนในสิทธิประโยชน์การขายไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชีวมวล รวม 25.5 MW

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอย่างครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด (KPP) ซึ่งกลุ่มน้ำตาลครบุรี ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ได้จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี หรือ กองทุน KBSPIF เพื่อลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภทโรงไฟฟ้า ที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ และให้โอกาสผลตอบแทนที่ดีแก่กองทุน KBSPIF โดย KPP จะนำเงินที่ได้ไปใช้เพื่อลงทุนขยายกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งใหม่ในอนาคต ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำตาลเป็นประโยชน์สูงสุด และช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประเทศ

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ใช้เชื้อเพลิงจากกากอ้อยของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด หรือ KPP เป็นโรงไฟฟ้าระบบผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน (Cogeneration System) ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 73 เมกะวัตต์ โดยผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้า KPP มีอัตราเติบโตต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) โดยมีรายได้รวมจากการจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญาในปี 2560 รวมทั้งสิ้น 689.21 ล้านบาท เพิ่มเป็น 901.59 ล้านบาทในปี 2561 และในปี 2562 ที่ผ่านมา มีรายได้ 972.71 ล้านบาท

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการกองทุน KBSPIF กล่าวว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี (KBSPIF) จะเสนอขายหน่วยลงทุนเป็นครั้งแรกแก่ประชาชนทั่วไป วงเงินระดมทุนไม่เกิน 2,800 ล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนในสิทธิในผลประโยชน์จากการประกอบกิจการไฟฟ้าของ KPP ในอัตราร้อยละ 62 ของรายได้ตามสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 22 เมกะวัตต์ (รายได้เฉพาะส่วนที่คำนวณจากรายได้ในส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากราคาเฉลี่ยถ่านหิน) และรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ บมจ. น้ำตาลครบุรี อีกจำนวน 3.5 เมกะวัตต์ รวมเป็น 25.5 เมกะวัตต์ โดยกองทุน KBSPIF จะมีระยะเวลารับโอนผลประโยชน์จากการจำหน่ายไฟฟ้าของ KPP ระยะเวลาประมาณ 20 ปี นับตั้งแต่วันที่จัดตั้งกองทุนฯ

ทรัพย์สินที่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี (KBSPIF) เข้าลงทุนนั้น เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่มีคู่สัญญาจำหน่ายไฟฟ้าประเภท Firm กับ กฟผ. ที่คิดอัตราค่าไฟฟ้า ต่อหน่วยของสัญญาอยู่ที่ 2.0577 บาท/กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และสัญญาขายไฟฟ้ากับ KBS เท่ากับ 2.90 บาท/กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงในกระแสรายได้ให้กับกองทุน KBSPIF นอกจากนี้ บมจ.น้ำตาลครบุรี มีนโยบายเข้าถือครองหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 แต่ไม่เกินร้อยละ 33 ของจำนวนหน่วยลงทุน เป็นระยะเวลา 10 ปี ตอกย้ำความเชื่อมั่นในศักยภาพการสร้างรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานภาครัฐได้ตลอดอายุสัญญา และกองทุน KBSPIF ยังมีโอกาสในการเติบโตจากการนำโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งใหม่เข้าระดมทุนเพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้ กองทุน KBSPIF มีนโยบายจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ซึ่งกำหนดการจ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิที่ได้ปรับปรุงแล้ว โดยจากการประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 8.95 (จากเงินปันผลร้อยละ 6.24 และจากเงินลดทุนร้อยละ 2.71) โดยประมาณการอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.00*

นางสาวพิจิตตรา ไตรรัตนธาดา ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายวาณิชธนกิจ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าน้ำตาลครบุรี หรือ KBSPIF มีจุดเด่นด้านโครงสร้างการแบ่งกระแสรายได้เข้ากองทุนรวมฯ ที่มีความผันผวนต่ำจากสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าระยะยาวให้แก่หน่วยงานภาครัฐซึ่งคือ EGAT และบางส่วนให้แก่ KBS อีกทั้งกองทุน KBSPIF ไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายการดำเนินงานโรงไฟฟ้า อันได้แก่ ค่าวัตถุดิบ ค่าซ่อมแซมและบำรุงเครื่องจักรโรงไฟฟ้า เป็นต้น ส่งผลให้กระแสรายได้ที่ KBSPIF ได้รับมีความผันผวนต่ำและไม่ขึ้นกับค่าใช้จ่ายดำเนินงานโรงไฟฟ้า

นอกจากนี้ กองทุน KBSPIF ยังได้ปิดความเสี่ยงการขาดแคลนวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้าอันได้แก่ กากอ้อย จากการเข้าทำสัญญากับ KBS ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ของประเทศ ในการจัดหาวัตถุดิบที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าตลอดอายุสัญญากองทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่กองทุนฯ เข้าลงทุนจะมีวัตถุดิบที่เพียงพอสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอให้แก่นักลงทุน

ทั้งนี้ กองทุน KBSPIF ได้กำหนดราคาเสนอขายหน่วยลงทุนอยู่ที่ 10 บาทต่อหน่วย และจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำในการจองซื้อที่ 500 หน่วย และเพิ่มครั้งละ 100 หน่วย ซึ่งจะเริ่มเปิดให้นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไป ที่สนใจสามารถจองซื้อหน่วยลงทุน ได้ตั้งแต่วันที่ 4-7 สิงหาคม 2563 ที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างแน่นอน

หมายเหตุ *อัตราผลตอบแทนภายในดังกล่าวคำนวณจากสมมติฐานการจัดตั้งกองทุนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 โดยระยะเวลาการลงทุนเท่ากับระยะเวลาภายใต้สัญญาการโอนผลประโยชน์ฯ ซึ่งใช้ประมาณการการรับรู้รายได้ของผู้ประเมินรายต่ำ (บริษัท ดิสคัฟเวอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด) และใช้สมมติฐานค่าใช้จ่ายของกองทุนอ้างอิงจากสมมุติฐานของบริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด โดยประมาณการค่าใช้จ่ายของกองทุนต่อปีไม่เกินร้อยละ 1.2 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมของกองทุน และคำนวณจากมูลค่าระดมทุนสูงสุดที่ 2,800 ล้านบาท ทั้งนี้ ประมาณการอัตราผลตอบแทนภายในดังกล่าวขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนทางธุรกิจ ทางเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนอื่นๆ ซึ่งอาจไม่อยู่ในการควบคุมของทางกองทุนและบริษัทจัดการ อัตราผลตอบแทนภายในจริงจึงอาจมีความแตกต่างจากประมาณการนี้ ทางกองทุนและบริษัทจัดการ ไม่รับประกันอัตราผลตอบแทนภายใน และตัวเลขประมาณการทั้งสิ้น ซึ่งนักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลความเสี่ยงเกี่ยวกับการลงทุนในหนังสือชี้ชวน

คำเตือน

  1. ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
  2. ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลดังกล่าวจากหนังสือชี้ชวนซึ่งสามารถดาวน์โหลด (Download) ได้ที่ www.sec.or.th และ www.set.or.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารกรุงไทย หมายเลขโทรศัพท์ 02-111-1111
  3. ความเสี่ยงที่สำคัญของกองทุน เช่น ความเสี่ยงจากการขาดแคลนเชื้อเพลิง ความเสี่ยงจากเครื่องจักรเสื่อมสภาพ ความเสี่ยงด้านราคาและสภาพคล่องในตลาดรอง เป็นต้น

HTML::image( HTML::image(