หลักสูตรแรกในประเทศไทย ม.มหิดล - กรมอนามัย ผลิต "พยาบาลนมแม่" ให้กับสถานพยาบาลทั่วประเทศ

05 Aug 2020

วันที่ 1 - 7 สิงหาคม ของทุกปี องค์การพันธมิตรนมแม่โลก (World Alliance for Breastfeeding Action หรือ WABA) กำหนดให้เป็น "สัปดาห์นมแม่โลก" ซึ่งการที่ทารกได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และส่งเสริมพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยในปี 2568 องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ได้ตั้งเป้าหมายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตไว้ที่ร้อยละ 50 ในขณะที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถทำได้เพียงร้อยละ 23 เท่านั้น

ด้วยความตระหนักถึงปัญหาสำคัญของสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ. 2561 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสุขภาพเด็กปฐมวัย จึงได้ริเริ่มพัฒนาและเปิดหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขึ้น โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พรนภา ตั้งสุขสันต์ ประธานหลักสูตรฯ กล่าวว่า เป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองจากสภาการพยาบาล ผลิต "พยาบาลนมแม่" ที่ป็นผู้เชียวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อปี พ.ศ. 2562 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ผลิต “พยาบาลนมแม่” ให้กับสถานพยาบาลทั่วประเทศ โดยมองว่าพยาบาลเป็นบุคลากรสำคัญในการสนับสนุนมารดาให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพของพยาบาลจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันที่เป็นรากฐานด้านการพยาบาลของไทย

หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงได้จัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ "พยาบาลนมแม่" ได้มองเห็นบทบาทของตนเอง มีความรู้ความเข้าใจในนโยบายและระบบบริการสุขภาพ จนสามารถพัฒนาสู่การวางแผนในการปฏิบัติงาน และเป็นผู้นำที่ทำงานได้อย่างมีระบบ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พรนภา ตั้งสุขสันต์ กล่าวต่อไปว่า "พยาบาลนมแม่" มีส่วนช่วยให้แม่มีการเตรียมพร้อมทั้งกายและใจในการวางแผนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยตัวเองตั้งแต่ตั้งครรภ์ ตลอดจนช่วยแม่ให้ได้เริ่มต้นให้นมลูกตั้งแต่ในห้องคลอด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดครั้งแรกในการกระตุ้นการสร้างน้ำนม โดย "พยาบาลนมแม่" จะทำหน้าที่ดูแลอย่างต่อเนื่องต่อไปในระยะหลังคลอดและไปจนถึงลูกอายุ 2 ขวบหรือมากกว่า

น้ำนมที่ลูกดื่มหยดแรกจากอกของแม่ เปรียบเหมือนวัคซีนแรกที่เป็นภูมิคุ้มกันของชีวิต ซึ่งเมื่อใดที่ลูกรู้สึกหิว หรือไม่สบาย หากได้ดื่มน้ำนมจากอกของแม่ จะเหมือนได้รับยาวิเศษโดยธรรมชาติที่สื่อได้จากการสัมผัสที่อบอุ่นและปลอดภัยจากแม่สู่ลูก

นอกจากการเปิดหลักสูตรผลิต "พยาบาลนมแม่" ให้กับสถานพยาบาลทั่วประเทศแล้ว ศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสุขภาพเด็กปฐมวัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้จัดอบรมให้ความรู้ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้กับแกนนำจากสถานประกอบการต่างๆ เพื่อขยายผลสู่แรงงานหญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลสำคัญในการดูแลสุขภาพของตนเองและทารกในครรภ์เนื่องจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจและสังคม

และในช่วงวิกฤต Covid-19 ที่ผ่านมา ศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสุขภาพเด็กปฐมวัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีบทบาทสำคัญในการให้บริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ทั้งในและนอกเวลาราชการ สำหรับผู้ใช้บริการซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่มีข้อจำกัดในการเดินทางมาพบแพทย์ ซึ่งภารกิจทั้งหมดนี้ทำอย่างทุ่มเทโดยหวังให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อเด็กไทยจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เติบโตเป็นกำลังสำคัญมาช่วยพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

ศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสุขภาพเด็กปฐมวัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บริการให้คำปรึกษาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสุขภาพเด็กปฐมวัย ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 17.00 - 20.00 น. และวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 09.00 - 17.00 น. ผ่าน Hotline 095-6850441, 081-6585528, 086-1068275