ในส่วนภาควิจัยของประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยข้อมูลว่า ทุนวิจัยประเด็น "บริหารจัดการน้ำ" เป็นหนึ่งในแผนงานวิจัยสำคัญ "แฟลกชิฟ" ปี 2563 ของประเทศ ตามแผนจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (ววน.) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ที่ผ่านมา สกสว. ได้สนับสนุนโครงการวิจัย "การจัดทำโรดแมพการวิจัยประเด็นวิจัยยุทธศาสตร์ เรื่อง การจัดการน้ำเพื่อรองรับยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ"โดย ผศ. ดร.สุภัทรา วิเศษศรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ที่ศึกษา รวบรวมข้อมูล 1. ภาพรวมของประเด็นการวิจัยในระดับโลก ทั่วโลก 2. ภาพรวมของประเด็นการวิจัยในระดับชาติ ได้แก่ การจัดการน้ำเพื่อชุมชน บทบาทการจัดการน้ำในเขตเมือง การจัดการน้ำเพื่อการพัฒนาและการเพิ่มผลิตภาพของการใช้น้ำ การบริหารจัดการน้ำเพื่อสิ่งแวดล้อม การจัดระบบการจัดการน้ำในภาวะวิกฤติ การจัดการบริหารน้ำเชิงลุ่มน้ำอย่างมีธรรมาภิบาล 3. สถานการณ์น้ำในประเทศไทย สรุปการใช้น้ำโดยรวม การจัดหาน้ำ ความต้องการใช้น้ำ ภัยพิบัติทางน้ำ และคุณภาพน้ำ 4. ข้อเสนอแนะต่องานวิจัยด้านน้ำที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เช่น การศึกษาผลของการเปลี่ยนแปลง (เพิ่มขึ้น) ของพื้นที่ป่าต่อปริมาณน้ำท่าและตะกอน เป็นต้น
นอกจากนี้ สกสว. และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ยังได้รับการสนับสนุนโครงการวิจัย งานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำสำนักประสานงานวิจัยการจัดการน้ำเชิงยุทธศาสตร์ที่มี รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ผลลัพธ์งานวิจัย ทำให้ประเทศไทยมีแผนงานการบริหารจัดการน้ำของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในทุกระดับ เพื่อให้ประเทศมีทรัพยากรน้ำใช้รองรับการเติบโตในอนาคต โดยมีกรอบวิจัยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ: กรอบการพัฒนาระยะยาว (พ.ศ. 2560 - 2579) ที่ตอบโจทย์ประเทศ 3 กลุ่ม คือ 1.พัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซีเพื่อให้เกิดความสมดุล ลดความขัดแย้ง พัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม ศึกษาศักยภาพในการเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และสระแก้ว 2.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานภาคกลางตอนบนทั้งการบริหารเขื่อน การใช้น้ำอุปโภคบริโภค เกณฑ์ควบคุมการปล่อยน้ำเขื่อน การพัฒนาระบบการส่งน้ำ การกระจายน้ำ ติดตั้งเซนเซอร์ในระบบชลประทานเพื่อโยงเข้ากับศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ และติดตั้งเซนเซอร์ในแปลงนา การเชื่อมโยงระบบข้อมูลน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินเพื่อจัดการน้ำร่วมกันระหว่างน้ำบาดาลและน้ำผิวดิน 3.การบริหารจัดการน้ำแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีการพัฒนาเซนเซอร์และระบบน้ำอัจฉริยะเพื่อการชลประทาน การส่งข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการจัดการน้ำอัจฉริยะ และการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อสร้างวัฒนธรรมรักษ์น้ำเพื่อการประหยัดน้ำ ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของโครงการตอบสนองต่อพื้นที่ของประเทศไทย เนื่องจากเป็นแนวทางใหม่ของการบูรณาการและยกระดับงานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการน้ำ และพัฒนาระบบการใช้ข้อมูลสารสนเทศประกอบการตัดสินใจให้สามารถแก้ปัญหา โดยสร้างกลไกการใช้น้ำที่เป็นนวัตกรรมและปรับพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างประหยัด โดยมีเป้าหมายที่จะลดค่าเฉลี่ยปริมาณการใช้น้ำลดลงร้อยละ 15 และปริมาณน้ำที่นำไปใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85 ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยนำร่องในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และโครงการท่อส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง สำนักชลประทานที่ 4 จังหวัดกำแพงเพชร โดยใช้งานวิจัยการพัฒนาระบบเซนเซอร์และเทคโนโลยีอัจฉริยะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวให้ข้อมูลในการประชุมหน่วยงานบริหารจัดการโปรแกรม หรือ พีเอ็มยู ครั้งล่าสุดว่า ภัยแล้งถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนในปี 2563 หลังจากนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ถือเป็น หน่วยงานบริหารจัดการโปรแกรม หรือ พีเอ็มยู ที่เป็นเจ้าภาพบริหารจัดการทุนวิจัยประเด็น "บริหารจัดการน้ำ" โดยต้องเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหลายๆ หน่วยงาน เพื่อเชื่อมปลั๊กการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit