'ซานยี่' เป็นเมืองเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของจังหวัดเหมี่ยวลี่ (Miaoli) เมืองที่รุ่มรวยด้วยศิลปวัฒนธรรมเจ้าของฉายา "อาณาจักรไม้แกะสลักของไต้หวัน" (Taiwan Kingdom of Woodcarving) ที่ยังคงสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมในการแกะสลักไม้จากรุ่นสู่รุ่น และนำมาจัดแสดงไว้อย่างเรียบง่ายภายใน Sanyi Wood Sculpture Museum การนำผลงานศิลปะหาชมยากมาจัดแสดงนิทรรศการครั้งแรกในเมืองไทย จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและความร่วมมือครั้งสำคัญของวงการแกะสลักไม้แห่งเอเชีย
อัลเบิร์ต หลิน (Albert Lin) ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวจังหวัดเหมียวหลี่ (Director of Culture and Tourism Bureau Miaoli Country Government) กล่าวว่า "เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้เดินทางมาร่วมงานศิลปะที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ ทำให้เราได้ชื่นชมงานแกะสลักไม้ของศิลปินไทยและเข้าใจถึงการให้ความสำคัญกับคุณค่าของงานศิลปะที่แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม อย่างเมืองไทยจะให้ความสำคัญการประยุกต์งานศิลปะให้สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ขณะที่ไต้หวันจะเน้นเรื่องสุนทรียศิลป์หรือ "ศิลปะเพื่อศิลปะ" มากกว่า การได้มาร่วมงานในครั้งนี้จึงนำไปสู่การส่งเสริมและสานต่อองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งยังนำไปสู่ความร่วมมือต่าง ๆ ของศิลปินไทยและไต้หวันในอนาคต"สมาคมช่างไม้แห่งซานยี่มีสมาชิกราว 160 คน โดยเอกลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ในงานแกะสลักไม้ของซานยี่อยู่ที่ความอ่อนช้อย งดงาม และรายละเอียดเล็ก ๆ ที่แฝงไว้ด้วยหลักความเชื่อทางศาสนา ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2461 ยุคที่พุทธศาสนานิกายมหายานเข้ามามีอิทธิพลกับงานแกะสลักไม้ของซานยี่ ก่อนที่อุตสาหกรรมและนวัตกรรมจะเข้ามามีบทบาทต่อการสร้างสรรค์งานแกะสลักไม้ในหลากหลายรูปแบบ ทำให้ถนนสายหลักของเมืองซานยี่เต็มไปด้วยสตูดิโอแกะสลักไม้ของศิลปินรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เรียงรายเต็มสองข้างทาง จนได้รับการยกย่องให้เป็น 'Woodcarving Street' ของไต้หวัน
"ในอีดตรัฐบาลไต้หวันให้ความสำคัญกับการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอย่างมาก จนได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งใน 4 เสือแห่งเอเชีย ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และฮ่องกง แต่ช่วงหลังเศรษฐกิจของไต้หวันไม่ค่อยดีส่งผลให้การสนับสนุนลดลง ขณะที่หลายประเทศในเอเชียเริ่มได้รับการสนับสนุนเรื่องศิลปวัฒนธรรมจากภาครัฐและภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองไทยที่งานศิลปะมีความโดดเด่นและน่าสนใจอย่างมาก"
Yang Pe Chen (หยาง เป่ ฉิน) Associate Professor, Sculpture Department, National Taiwan University of Arts พูดถึงบทบาทของภาครัฐที่มีต่องานศิลปะ ในฐานะอาจารย์ในมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติ เขาชื่นชมผลงานของศิลปินไทยที่มีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด หลังจากที่เขาสัมผัสได้จากการร่วมงานเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ 2019
"งานแกะสลักไม้ของไทยถือเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่สิ่งที่ผมเห็นไม่ได้มีแค่งานคราฟต์เท่านั้น ผมยังเห็นงานดีไซน์ที่ล้ำหน้ากว่าไต้หวัน อย่างการจัดวางร้านค้าที่มีสไตล์การออกแบบที่ดึงดูดใจ ทั้งมาตรฐานและคุณภาพของการผลิตสินค้าจัดอยู่ในเกณฑ์ดี ความงดงามและความประณีตของผลงานทำได้ดีมาก ไต้หวันยกย่องให้การออกแบบของชาวญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย รองลงมาก็น่าจะเป็นประเทศไทยนี่แหละครับ โดยเฉพาะช่วงหลังปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา ที่ผลงานการออกแบบของศิลปินไทยมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดอย่างมาก"
อาจารย์หยางยังกล่าวด้วยว่า เขาอยากให้หน่วยงานภาครัฐของไต้หวันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของศิลปวัฒนธรรม เดินทางมาศึกษาการทำงานของ TCDC เพื่อศึกษารูปแบบการจัดงานศิลปะให้มีความแปลกใหม่และเปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ "แม้ไต้หวันจะมี Creative Park เหมือนกัน แต่เราจัดแสดงแค่โซนใดโซนหนึ่งเท่านั้น ขณะที่เทศกาลออกแบบเชียงใหม่จัดแสดงในสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทำให้ทั่วทั้งเมืองอบอวลไปด้วยงานศิลปะที่มีเสน่ห์และดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ถือเป็นต้นแบบที่ดีของการจัดงานศิลปะเลยก็ว่าได้"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit