เตรียมเคาะแผนศึกษาจัดลำดับ 9 แผนหลัก สู่แผนแม่บทแก้ปัญหาลุ่มเจ้าพระยา

31 Jan 2020
สทนช.ขีดเส้นผลศึกษาจัดลำดับความเร่งด่วนพัฒนา 9 แผนหลักจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาแล้วเสร็จภายใน ก.พ.นี้ เตรียมนำผลศึกษาต่อยอดสู่แผนแม่บทให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทำแผนปฏิบัติการรายโครงการ ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาเกิดประโยชน์สูงสุด
เตรียมเคาะแผนศึกษาจัดลำดับ 9 แผนหลัก สู่แผนแม่บทแก้ปัญหาลุ่มเจ้าพระยา

วันนี้ (2 ก.พ. 63) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทนช.ได้ดำเนินโครงการศึกษาจัดลำดับความสำคัญ 9 แผนงานบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง 2.โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย 3.โครงการคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่สาม 4.โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก 5.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 6.โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 7.โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร 8.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน และ 9.โครงการพื้นที่รับน้ำนอง ปัจจุบันผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จตามแผน ซึ่งคาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการนำผลการศึกษาไปใช้เป็นแผนแม่บทให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นแนวทางและแผนปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้การตัดสินใจดำเนินโครงการเป็นไปอย่างรอบคอบถูกต้องตามหลักวิชาการ นำไปสู่การแก้ปัญหาและการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในมิติของวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการน้ำ

"เนื่องจากทั้ง 9 แผนงานเป็นโครงการขนาดใหญ่ และใช้งบประมาณดำเนินการค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาการจัดลำดับความสำคัญในหลากหลายมิติ เพื่อให้แผนงานโครงการที่จะดำเนินการในแต่ละปีเกิดความคุ้มค่าและเกิดประสิทธิผลสูงสุด ขณะนี้ผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จตามแผน โดยผ่านกระบวนการ ทบทวน และวิเคราะห์สภาพปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต รวมทั้งพิจารณาถึงความสมบูรณ์ขององค์ประกอบในแต่ละแผนงาน และเสนอมาตรการเพิ่มเติมให้ครบถ้วน การเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อโครงการ ที่สำคัญคือ การรวบรวมข้อมูลโครงการย่อยที่ได้มีการตั้งงบประมาณแล้วเพื่อให้ทราบถึงสภาพปัจจุบันของโครงการย่อยต่างๆ ที่อยู่ในแผนงาน 9 แผนงาน การรวบรวมแผนงานโครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่สัมพันธ์กันกับการระบายน้ำของ 9 แผนงานเพื่อให้ทราบถึงภาพรวมการดำเนินโครงการทั้งหมด การเพิ่มเติมรายละเอียดคันกั้นน้ำหรือการสร้างถนนหรือยกระดับถนนขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับสภาพการไหลเมื่อมีการไหลผ่านพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ รวมถึงการจำลองเหตุการณ์น้ำท่วมปีต่างๆ ร่วมกับการจำลองโครงการของแผนบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยกำหนดกรณีฐานและเพิ่มเติมกรณีศึกษาให้ครอบคลุมทุกความเป็นไปได้ที่เหมาะสม เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิผลและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยในแต่ละกรณีต้องวิเคราะห์ทุกมิติบนหลักเกณฑ์เดียวกัน"ดร.สมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 63 ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแผนงานลำดับที่ 7 จากทั้งสิ้น 9 แผน โดยปัจจุบันได้มีการดำเนินการตามแผน (road map) ในปี 2562 ได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดคลองระบายน้ำหลาก พร้อมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA การเวนคืนที่ดินและจัดเตรียมพื้นที่เพื่อการก่อสร้าง และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ ปี 2562 -2566 กรอบวงเงินรวมประมาณ 21,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ขุดคลองระบายน้ำสายใหม่จากบริเวณ อ.บางบาล – อ.บางไทรและอาคารประกอบตามแนวคลอง ระยะทาง 22.4 กม. ระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที 2.ก่อสร้างถนนบนคันคลองทั้ง 2 ฝั่ง รวมความกว้างเขตคลอง 245 ม. 3.ประตูระบายน้ำในลำน้ำสาขา 2 แห่ง และปลายคลองขุดใหม่ 1 แห่ง และ 4.ก่อสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยาในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะส่งให้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสามารถรองรับอัตราการระบายเพิ่มขึ้นได้รวม 2,000 ลบ.ม./วินาที ที่จะช่วยลดพื้นที่น้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจ โบราณสถานสำคัญ และพื้นที่ชุมชนเมืองพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นบริเวณที่ลำน้ำแคบที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาการระบายน้ำมากกว่า 800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ก็จะเกิดผลกระทบต่อชุมชนริมตลิ่งได้ อีกทั้งบริเวณเกาะเมืองอยุธยายังเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำป่าสักรวมน้ำทั้งสองสายทำให้เกิดการชะลอน้ำบริเวณจุดบรรจบทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งอยู่เป็นประจำ ดังนั้น โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ปลายคลอง) จะเป็นการลดอัตราการไหลแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยบายพาสน้ำส่วนเกินผ่านช่องลัด

HTML::image(