เปิดวาร์ป “วิศวกรป้ายแดง” โปรไฟล์ปัง! ใช้ “ใบ ก.ว.” กรุยเส้นทางอาชีพในฝัน พร้อมแชร์มุมมอง “วิศวฯ ยังน่าเรียนอยู่หรือไม่ ในอนาคต”

29 Jan 2020
เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า เพื่อนพ้องน้องพี่วิศวกรจำนวนมาก จากหลากหลายสถาบัน ที่ทั้งเรียนจบก็แล้ว รับปริญญาก็แล้ว แต่ทำไมยังจะต้องอ่านหนังสือเตรียมสอบเพื่อขอรับ "ใบ ก.ว." หรือ "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม" ที่ "สภาวิศวกร" เสาหลักของชาติด้านวิศวกรรม เป็นผู้จัดสอบและออกใบอนุญาตอีก! ทั้งวิชาพื้นฐานทางด้านวิศวกรรม และ วิชาวิศวกรรมหลักเฉพาะสาขา ประหนึ่งสอบ Final นอกรอบกันเลยทีเดียว
เปิดวาร์ป “วิศวกรป้ายแดง” โปรไฟล์ปัง! ใช้ “ใบ ก.ว.” กรุยเส้นทางอาชีพในฝัน พร้อมแชร์มุมมอง “วิศวฯ ยังน่าเรียนอยู่หรือไม่ ในอนาคต”

นั่นเป็นเพราะ เพื่อให้ได้มาซึ่ง "วิศวกรคุณภาพ" ที่นอกจากจะมีพื้นฐานความรู้ด้านวิศวฯ สาขาเฉพาะทางในแต่ละสาขาแล้ว ยังมีความรอบรู้ทางด้านข้อกฎหมาย จรรยาบรรณ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ที่แน่นปึ้ก! คล่องแคล่วภาษาต่างประเทศ และก้าวทันทุกความเปลี่ยนแปลงในยุคดิสรัปชัน เข้ามาเติมเต็มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทย ในรายได้ที่สูงขึ้น ตลอดจนสามารถหาประสบการณ์การทำงาน ร่วมกับองค์กรใหญ่ในต่างประเทศได้ในอนาคต

โดยที่ผ่านมา มี "วิศวกรป้ายแดง" ที่สามารถฝ่าด่าน "ทดสอบความรู้ระดับภาคีวิศวกร" ในขั้นตอนแรกได้สำเร็จจำนวนมาก โดยเฉพาะ "หมวดวิชาวิศวกรรมหลักเฉพาะสาขา" ที่เน้นวัดความรู้เฉพาะทางในแต่ละสาขา จนสามารถคว้าคะแนน TOP10 มาครองได้สำเร็จ ซึ่งมาจากหลากหลายสถาบัน อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

แต่ทว่า วิศวกรป้ายแดงแต่ละท่าน จะมีแรงบันดาลใจอะไร ที่ผลักดันให้สามารถลงสนามสอบ และถือครอง "ใบ ก.ว." เพื่อก้าวสู่เส้นทางอาชีพในฝันได้สำเร็จบ้างนั้น ติดตามได้จากรายละเอียดดังต่อไปนี้

"อยากเป็นหนึ่งใน 'วิศวกรคุมงานเหมือง' ที่ติดตามการเดินทางของสินแร่ และการใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมไทย" : นางสาวศุภกัญญา บุญธิมา ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้คว้า 96 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 จากการสอบภาคีวิศวกร ในหมวดวิชาวิศวกรรมหลักเฉพาะสาขา เล่าว่า ตนเริ่มสนใจประโยชน์ของแร่ธรรมชาติตั้งแต่วัยมัธยมฯ เนื่องจากได้เรียนรู้เกี่ยวกับที่มาและคุณค่าของสินแร่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ขั้นตอนการขุดเจาะทุกรูปแบบ ตลอดจนติดตามเส้นทางการนำสินแร่ไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการก่อสร้าง ทั้งโลหะ ปูน หิน ฯลฯ สู่การเป็นส่วนผสมหนึ่งในการสร้างบ้าน อาคารสำนักงาน โรงแรมทุกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และอื่น ๆ จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่ทำให้ตนอยากเป็นส่วนหนึ่งของ 'วิศวกรคุมงานเหมือง' ที่ติดตามการเดินทางและใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองงานในตำแหน่ง'หัวหน้างาน' ที่ดูแลด้านโลจิสติกส์ และการขนส่งสินแร่

ทั้งนี้ ใบ ก.ว. จึงเป็นใบอนุญาตฯ หนึ่งที่ช่วยการันตีศักยภาพว่า มีความรู้ความเข้าใจมากน้อยเพียงใด และพร้อมทำงานให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย จรรยาบรรณ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ช่วยสานฝันอาชีพที่ตั้งใจได้สำเร็จ ซึ่งทริคการเตรียมสอบจะคล้ายคลึงกับสมัยเรียน ที่ต้องทุ่มเทเวลาในการอ่านหนังสือและฝึกทำโจทย์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้การทำงานในสาขานี้ จะค่อนข้างสมบุกสมบัน และต้องลงหน้างานเพื่อตรวจดูความเรียบร้อยเทียบเท่าผู้ชายอยู่เสมอ แต่ตนกลับรู้สึกมีความสุขเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็น 'วิศวกรหญิงคุมงานเหมือง' อีกทั้งวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม ยังคงเป็นสาขาสำคัญที่น่าเรียนและจำเป็นต่อประเทศไทย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

"อยากเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยส่งต่อ สิ่งที่มองไม่เห็นอย่าง 'กระแสไฟฟ้า' สร้างแสงสว่างให้ชุมชนห่างไกล" : นายชนิสร อินปัน ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (TSE: Thammasat School of Engineering) เจ้าของ 91 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 จากการสอบภาคีวิศวกร ในหมวดวิชาวิศวกรรมหลักเฉพาะสาขา เล่าว่า ด้วยเล็งเห็นถึงเสน่ห์ของ 'กระแสไฟฟ้า' หนึ่งในสิ่งที่มองไม่เห็นแต่มีอยู่จริงในชีวิตประจำวัน ที่นอกจากจะช่วยเติมเต็มชีวิตของผู้คนได้อย่างลื่นไหล พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและแสงสว่างแก่ชุมชนห่างไกล รวมไปถึงขับเคลื่อนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศในทุกมิติแล้ว ตนจึงอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อสิ่งที่มองไม่เห็นดังกล่าว ผ่านการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่ทำให้ตนได้วิเคราะห์ ออกแบบ ทดลองผลิต และควบคุมแผงวงจรไฟฟ้าสำหรับใช้จริงในครัวเรือน รวมไปถึงการสอบใบ ก.ว. เพื่อสร้างมาตรฐานทางวิชาชีพ และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกระแสไฟฟ้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ

ซึ่งปัจจุบันตนได้เข้าทำงานในตำแหน่ง 'วิศวกร ระดับ 4' ประจำการ ณ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 (ภาคเหนือ) จ.พิษณุโลก ซึ่งมาพร้อมกับปรับฐานรายรับในระดับที่สูง และขอบข่ายการทำงานที่กว้างขึ้น ภายใต้ขอบข่ายการทำงานที่สภาวิศวกรกำหนด อาทิ ควบคุมและตรวจสอบความถูกต้องของอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่ใช้งานในเจ้าหน้าระดับปฏิบัติการ ก่อนลงพื้นที่บำรุงรักษา/ซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมไปถึงเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกลเพื่อขยายระบบไฟฟ้า และจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องไฟฟ้าในแง่มุมต่าง ๆ กับนักเรียนบนดอย อย่างไรก็ดี สาขาวิศวฯ ไฟฟ้า ยังซุกซ่อนองค์ความรู้ในแขนงต่าง ๆ จำนวนมาก ที่ นอกจากจะช่วยในเรื่องการเชื่อมต่อ และควบคุมกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังสามารถทำงานร่วมกับสายงานอื่นได้ เช่น การคำนวณกำลังไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า นับได้ว่า "วิศวกรรมศาสตร์" เป็นศาสตร์ที่สามารถผสมกลมกลืนไปกับศาสตร์แขนงอื่นได้อย่างหลากหลาย โดยไร้ซึ่งข้อจำกัดหรือรูปแบบที่ตายตัว และหากมองย้อนไปจะเห็นได้ว่า ในอดีต สาขาของวิศวฯ อาจจะมีเฉพาะบางสาขาหลัก เช่น เครื่องกล ไฟฟ้า และเคมี แต่ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ เชื่อได้ว่าศาสตร์ด้านนี้ จะแตกแขนงหรือเกิดขึ้นใหม่อีกจำนวนมาก เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ทุกคนต้องปรับตัว ไม่เว้นแต่ "วิศวกรรมศาสตร์" ที่ทรานส์ฟอร์ม (Transform) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ในอนาคต ทางสภาวิศวกร เตรียมส่งเสริมสาขาวิชาชีพวิศวกรรม จำนวน 17 สาขา อาทิ วิศวกรรมอากาศยาน วิศวกรรมชีวการแพทย์ วิศวกรรมอาหาร และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเกิดการยอมรับในมาตรฐานวิชาชีพ เมื่อต้องเข้าทำงานในภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ ตลอดจนพร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

"สภาวิศวกร องค์กรหลักด้านวิศวกรรมของไทย ที่ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พิจารณาพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และรับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม"

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดการสมัครสมาชิก และการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุม (ใบ ก.ว.) ได้ที่ www.coe.or.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ สายด่วน 1303

HTML::image( HTML::image( HTML::image(