เคลื่อนความรู้วิจัยระบบยา ต่อยอดต่างชาติ "ยกไทยเข้าถึงยามีประสิทธิภาพในหลักประกันสุขภาพไทย" นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ได้รับการยกย่องจากนานาชาติ ว่าเป็นระบบที่ดีติดอันดับโลกการจัดการเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาจำเป็น เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาอย่างถ้วนหน้า เท่าเทียม ไม่เกิดภาวะล้มละลายจากรายจ่ายสุขภาพ เป็นหัวใจสำคัญของระบบประกันสุขภาพ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสถานการณ์ระบบยาฯ พบว่า มูลค่าการบริโภคยาของประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 41 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากและแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (ค่ายา ค่ารักษา) ต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือนทั้งหมด (GDP) พบว่า ปี 2557 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (ค่ายา ค่ารักษา) มีมูลค่า 409,313 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูลมูลค่าการผลิตและนำเข้ายาประจำปี 2558 มีมูลค่ายารวม 162,914 ล้านบาท ดังนั้น การใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ควบคู่กับการจัดการที่เหมาะสม ดังตัวอย่างที่ดำเนินการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีการจัดการของระบบที่ดีตั้งแต่การคัดเลือกยาที่มีประสิทธิผล คุ้มค่า เข้าในสิทธิประโยชน์ มีการจัดหาและกระจายยาที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล ผลคือทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็นได้ แม้จะเป็นยาราคาแพงหรือเป็นยาหายาก และราคายาของระบบลดลงมาก
"สวรส. จึงได้ผลักดันให้เกิดการทบทวนสถานการณ์และสังเคราะห์เหตุปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานของระบบยาของประเทศไทย โดยรายงานระบบยาของประเทศไทย ในครั้งนี้เป็นรายงานฯ ฉบับที่ 3 ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานสำคัญๆ และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับระบบยาของประเทศ ได้ร่วมกันพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทของระบบสุขภาพไทย โดย สวรส. จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์ความรู้ชุดนี้ไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพและสุขภาพที่ดีของคนไทยต่อไป" นพ.นพพร กล่าว
ทางด้าน ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. เปิดเผยว่า ในการประชุมฯ ได้เปิดตัว "รายงานระบบยาของประเทศไทย 2563" ซึ่งนับเป็นข้อมูลสำคัญของการรายงานสถานการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับระบบยาในประเทศไทยที่จัดทำขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดย สวรส. ได้สนับสนุนให้มีการจัดทำรายงานระบบยาของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2537 โดยการพัฒนาร่วมกันของคณะกรรมการจัดทำรายงานระบบยาของประเทศไทย ซึ่งกรอบแนวคิดดัดแปลงมาจาก Pharmaceutical Systems Strengthening framework ของ Systems for Improved Access to Pharmaceuticals and Services (SIAPS) และแบบจำลองระบบยาของหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสาระสำคัญเพื่อรายงานข้อมูลระบบยา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบสุขภาพ มีเป้าหมายผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีของคนไทย โดย "ยา" ครอบคลุมถึง ยาสำเร็จรูปประเภทยาเคมี วัคซีน ชีววัตถุ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาเสพติด ยาแผนโบราณ และยาสมุนไพร นำเสนอภายใต้องค์ประกอบหลักของระบบยา คือ ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลผลิต/ผลลัพธ์ รวมทั้งองค์ประกอบสนับสนุน คือ ระบบอภิบาลและการเงินการคลัง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบยา โดยแต่ละองค์ประกอบต่างมีความเชื่อมโยงกัน ภายใต้บริบทแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งระบบยายังครอบคลุมภาคอุตสาหกรรม และการบริการสุขภาพ จึงเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายในระดับชาติ องค์กร และบุคคล ได้แก่ ภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม ภาคผู้ให้บริการ เช่น สถานบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน โรงงานผลิตยา บริษัทยา องค์กรไม่แสวงผลกำไร และองค์กรวิชาชีพ และภาคชุมชน เช่น ผู้ป่วย ผู้บริโภค รวมทั้งภาคประชาสังคมนอกจากนั้น องค์ประกอบของระบบยาเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนที่จำเป็นต้องมาร่วมทบทวนการทำงานและกำหนดทิศทางในอนาคต เพื่อปรับการตัวให้สอดรับกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายในระบบสุขภาพและปัจจัยแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งล้วนมีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่อระบบยา เช่น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บัญชียาหลักแห่งชาติ มาตรฐานการผลิตตามหลักเกณฑ์ PIC/S GMP การประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาของกระทรวงสาธารณสุข มติสมัชชาสหประชาชาติประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การปรับปรุงความตกลงทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ที่เกี่ยวกับระบบยา การปรับตัวอย่างต่อเนื่องในระบบยานั้นเพื่อให้อยู่รอดและดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน สามารถบรรลุเป้าหมายทั้งในระดับประเทศและสากล
ทั้งนี้ ในการประชุมได้นำประเด็นต่างๆ ซึ่งเป็นหัวข้อย่อยในรายงานระบบยาฯ ดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนในการประชุม อาทิเช่น "เพิ่มการเข้าถึงยารักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy)" โดย ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ที่ปรึกษาโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้กล่าวว่า จากรายงานประมาณการมูลค่าการตลาดของยามะเร็งในระดับโลกได้คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.12 พันล้านบาท ในปี 2561 เป็น 6.68 พันล้านบาท ในปี 2567 โดยมีผลการศึกษาในไต้หวัน ระหว่างปี 2552–2555 ระบุว่ามูลค่าการจำหน่ายยารักษาโรคมะเร็ง ในยาเคมีบำบัดมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่มูลค่ายารักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy) เพิ่มขึ้นจาก 6.24% ในปี 2552 เป็น 12.29% ในปี 2555 ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า อุบัติการณ์โรคมะเร็งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาแบบดั้งเดิมมีแนวโน้มลดลง ขณะที่กลุ่มยารักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง มีแนวโน้มและมูลค่าการใช้ที่เพิ่มขึ้นตามอุบัติการณ์โรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพของไทย มีรายการยารักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ในปี 2562 จำนวน 7 รายการ จาก 28 รายการ มีมูลค่าในการจัดหา 743 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 50.12% ของมูลค่าการจัดซื้อยาบัญชี จ(2) ทั้งหมด สิ่งที่น่าสนใจ คือ การพัฒนาระบบการเข้าถึงยารักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง เป็นประเด็นที่ควรได้รับการสนับสนุน โดยยังคงมีความท้าทายในด้านการบริหารจัดการความคุ้มค่าและยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าประสิทธิภาพของการรักษาที่เพิ่มขึ้นและจะเป็นวิวัฒนาการที่ก้าวกระโดดในอีกขั้นหนึ่งของระบบหลักประกันสุขภาพไทย หลังจากที่ต่างชาติเคยให้การยอมรับไทยอย่างกว้างขวางมาแล้ว ในด้านประสิทธิภาพการเข้าถึงยาในระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับ การประชุมครั้งนี้ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลในประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ สถานการณ์การเข้าถึงและการใช้ยาในระบบหลักประกันสุขภาพ การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในบริบทที่แตกต่างกัน เศรษฐศาสตร์การเมืองมีผลต่อการเข้าถึงยาในประเทศไทยและทั่วโลก ? การเข้าถึงยาราคาแพงและเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนชีววัตถุต่างๆ เป็นต้น