ปภ.บูรณาการเครื่องจักรกลบูรณาการแก้ไขปัญหาภัยแล้งครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง เน้นบริหารจัดการ – จัดสรรน้ำทั่วถึง ดูแลทุกครัวเรือนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ

30 Jan 2020
จากการคาดการณ์สถานการณ์น้ำของกรมชลประทาน พบว่า ภาพรวมปริมาณน้ำของทั้งประเทศอยู่ในปริมาณน้อย ประกอบกับปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติ ส่งผลให้ภัยแล้งขยายวงกว้างในหลายพื้นที่และอาจต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2563รัฐบาลห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเต็มกำลัง ภายใต้กฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยผ่านกลไกการปฏิบัติของหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยเน้นการทำงานในมิติเชิงพื้นที่ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบและมอบหมายภารกิจอย่างชัดเจน รวมถึงจัดหน่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง โดยแบ่งการทำงานดังนี้3 กลุ่มภารกิจหลักบูรณาการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

1.กลุ่มพยากรณ์ จัดตั้งคณะทำงานติดตามสภาพอากาศ ปริมาณน้ำท่า และสถานการณ์น้ำในแหล่งเก็บน้ำ เพื่อวิเคราะห์และประเมินปริมาณน้ำต้นทุนและความต้องการใช้น้ำ ประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

2.กลุ่มบริหารจัดการน้ำ จัดตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานทำหน้าที่วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและครอบคลุมการใช้น้ำทุกประเภท ทั้งการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมรวมถึงกำหนดแนวทางการระบายน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

3.กลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ บูรณาการฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร และภาคเอกชนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบและมอบหมายภารกิจอย่างชัดเจน รวมถึงจัดหน่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ระดมสรรพกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการบริหารจัดการเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยทหารและฝ่ายพลเรือน อาทิ รถบรรทุกน้ำ รถผลิตน้ำ เครื่องจักรและเครื่องขุด เครื่องเจาะบ่อและสูบน้ำ รวมกว่า 4,200 รายการ โดยกำหนดให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 แห่งทั่วประเทศ เป็นจุดระดมทรัพยากร เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระดับภาคและเขตจังหวัดได้อย่างทันท่วงที

จัดสรรน้ำอุปโภคบริโภคครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง โดยแบ่งมอบภารกิจและจัดสรรเครื่องจักรกลสาธารณภัยปฏิบัติการ ผันน้ำดิบเข้าสู่ระบบการผลิตน้ำประปา ขุดลอกแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ขุดเจาะและเป่าล้างบ่อบาดาล ควบคู่กับการจัดสรรน้ำสนับสนุนทุกพื้นที่เสี่ยงภัย มุ่งดูแลด้านน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดยจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านและจุดแจกจ่ายน้ำตามวงรอบอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงฤดูแล้ง

ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยประสานจังหวัดดำเนินการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะข้อมูลสถานการณ์น้ำ แผนการจัดสรรน้ำ มาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ รวมถึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้น้ำ เพื่อมิให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำ

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง เพื่อดูแลประชาชนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำที่มีปริมาณจำกัดอย่างประหยัด คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เชื่อมั่นว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกพื้นที่