อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อการเติบโตของข้าว อ้อย และสับปะรด นอกจากนี้ ฝนที่มาล่าช้าและภาวะฝนทิ้งช่วงยังทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช รวมไปถึงในช่วงปลายเดือนสิงหาคม - กันยายน 2562 พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน "โพดุล" ส่งผลพื้นที่เพาะปลูกพืชได้รับความเสียหาย รวมทั้งการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช อาทิ หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด โรคใบด่างมันสำปะหลัง โรคไหม้ข้าว และโรคใบร่วงยางพารา ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย อีกทั้ง การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ มีทิศทางลดลง จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ทั้งนี้ ทิศทางภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2563 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 - 3.0 ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรที่ต่อเนื่อง ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การส่งเสริมการรวมกลุ่ม การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร การบริหารการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งช่วยลดต้นทุน ทำให้เกษตรกร มีรายได้ที่มีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยโดยรวม และเศรษฐกิจโลก ในปี 2563 ยังมีแนวโน้มขยายตัว รวมทั้งการส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าเกษตรในประเทศอย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาคเกษตรในปี 2563 ขยายตัวได้ดี
ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า หากพิจารณาแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ยังคงขยายตัว ในขณะที่สาขาประมงหดตัว โดย สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 0.7 เป็นผลจากไม้ผลและไม้ยืนต้นมีการเติบโตและให้ผลผลิตได้ดี โดยผลผลิตพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เนื่องจาก เนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น และต้นยางพาราและต้นปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตได้มาก มันสำปะหลัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเนื้อที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากราคามันสำปะหลังในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี ไม้ผล ทุเรียน มังคุด และเงาะ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเย็นในช่วงปลายปี 2561 เอื้ออำนวยให้มีการออกดอกและติดผลได้มากขึ้น อีกทั้งราคา ในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงและดูแลรักษามากขึ้น รวมทั้งมีพื้นที่ปลูกใหม่ที่เริ่มให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี เนื่องจากเนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปีที่ผ่านมา บางพื้นที่ประสบภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในช่วงต้นฤดูปลูก เกษตรกรบางส่วนจึงปล่อยพื้นที่ว่าง และผลกระทบจากพายุโพดุลและคาจิกิ ข้าวนาปรัง มีผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่าง และแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณน้ำน้อย ภาครัฐจึงมีโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาแทนข้าวนาปรัง และโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรังปี 2562 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในภาพรวมมีผลผลิตลดลง แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา แต่สภาพอากาศแห้งแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วง รวมทั้งมีการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตรวมทั้งปีลดลง อ้อยโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเติบโต ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากในปีที่ผ่านมาราคาตกต่ำ ไม่จูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก รวมถึงต้นสับปะรดไม่สมบูรณ์จากภัยแล้ง
สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 0.8 ผลผลิตปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการขยายการผลิตรองรับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน ที่ขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีความต้องการบริโภคจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทดแทนเนื้อสุกรที่เกิดโรคระบาดASF ทั้งในเกาหลีใต้และจีน โคเนื้อ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการขยายการผลิตโคเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับการดำเนินมาตรการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อของภาครัฐ และ น้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น จากจำนวนแม่โครีดนมเพิ่มขึ้น การคัดทิ้งแม่โคที่มีอัตราการให้น้ำนมน้อยออกจากฟาร์มและทดแทนด้วยแม่โคพันธุ์ดี รวมทั้งเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีส่งผลให้ปริมาณน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น
ผลผลิตปศุสัตว์ที่ลดลง ได้แก่ สุกร เนื่องจากการลดปริมาณการผลิตของเกษตรกรรายย่อย จากราคาสุกรที่ตกต่ำ อย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา และไข่ไก่ มีผลผลิตลดลง เนื่องจากการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพไข่ไก่โดยการปรับลดแม่ไก่ ยืนกรงให้มีปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งการปรับลดแผนการนำเข้าไก่ไข่พันธุ์ (GP-PS)
สาขาประมง หดตัวร้อยละ 1.3 เนื่องจากผลผลิตประมงทะเลในส่วนของปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และการออกเรือจับสัตว์น้ำลดลง ประมงน้ำจืด ได้แก่ ปลานิล และปลาดุก มีผลผลิตลดลง เนื่องจากภาวะภัยแล้ง ประกอบกับแหล่งผลิตสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบอุทกภัยจากพายุโพดุล ส่งผลให้ผลผลิตประมงน้ำจืดลดลง อย่างไรก็ตาม กุ้งทะเลเพาะเลี้ยง มีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ภาครัฐมีการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ โดยผ่าน Modern Trade เช่น Lotus และ Macro
สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.7 เนื่องจากการจ้างบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรไปใช้ทดแทนแรงงานคนในกระบวนการผลิตมีมากขึ้น ทั้งการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง การจ้างบริการเกี่ยวนวดข้าว การจ้างบริการเครื่องขุดมันสำปะหลัง การนำอุปกรณ์รถตัดอ้อย-สางอ้อยมาใช้เก็บเกี่ยว รวมทั้งมีการใช้บริการโดรนสำหรับฉีดพ่นในพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสนับสนุนในการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรของภาครัฐ ทำให้กลุ่มเกษตรกรบางส่วน หันมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตและประหยัดเวลาในการทำงาน
สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.0 เนื่องจากไม้ยูคาลิปตัส ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนและญี่ปุ่น ในการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (wood pellet) ส่วนผลผลิตครั่งเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายพันธุ์และเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ประกอบกับประเทศคู่ค้าหลักอย่างประเทศอินเดียมีความต้องการเพิ่มขึ้น ในขณะที่ ไม้ยางพารา ลดลงจากการตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากโครงการสร้างความเข้มแข็ง ให้เกษตรกรชาวสวนยาง และโครงการประกันรายได้ เกษตรกรจึงตัดโค่นไม้ยางพาราลดลงเพื่อรอรับเงินชดเชย
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit