กสอ. คิกออฟ สร้างระบบนิเวศส่งเสริมเอสเอ็มอี รุกกิจกรรม “อธิบดีผนึกกำลังผู้นำพื้นที่” ร่วมชี้เป้าปั้นเอสเอ็มอี ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

16 Dec 2019
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) คิกออฟ สร้างระบบนิเวศส่งเสริมเอสเอ็มอี ปรับการทำงานเชิงรุก ริเริ่มกิจกรรม "อธิบดีผนึกกำลังผู้นำพื้นที่" รุกถกสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สมาพันธ์เอสเอ็มอีจังหวัด สภาเกษตรกรจังหวัด และผู้นำชุมชนในพื้นที่ ระดมความคิดและรับฟังความเห็น พร้อมร่วมกันส่งเสริมและชี้กลุ่มเป้าหมายเอสเอ็มอีในพื้นที่ เน้นสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ประเดิมลงพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 จ.อุบลราชธานี เดินหน้าส่งเสริม 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร)
กสอ. คิกออฟ สร้างระบบนิเวศส่งเสริมเอสเอ็มอี รุกกิจกรรม “อธิบดีผนึกกำลังผู้นำพื้นที่” ร่วมชี้เป้าปั้นเอสเอ็มอี ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรม ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนให้มีศักยภาพและสร้างขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สามารถพัฒนาผู้ประกอบการ สถานประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนกว่า 60,000 ราย พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้กว่า 3,000 ผลิตภัณฑ์ สร้างและเชื่อมโยงเครือข่าย 35 กลุ่ม คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 15,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นการต่อยอดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนได้รับการพัฒนาและยกระดับให้มีศักยภาพยิ่งขึ้นไปอีก กสอ. จึงได้ปรับกลไกการทำงาน โดยเดินหน้าเน้นการทำงานเชิงรุก ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาชน จัดประชุมหารือ ระดมความคิด และรับฟังความคิดเห็น เพื่อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ รวมถึงช่วยกันพิจารณาชี้กลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมาย ให้ได้รับบริการที่ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้สามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

โดย กสอ. ได้มีการจัดประชุมหารือระดมความคิดและรับฟังความเห็นขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สมาพันธ์เอสเอ็มอีจังหวัด สภาเกษตรกรจังหวัด สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้นำชุมชน จาก 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร) เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะกันอย่างพร้อมเพรียง ซึ่ง กสอ. จะเร่งดำเนินการขยายผลต่อยอดจากการประชุมในครั้งนี้ พร้อมทั้งให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง ทั่วประเทศ จัดการประชุมหารือให้ครบทุกภูมิภาคโดยเร็ว สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีการหารือร่วมกับประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม และประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีในเร็ว ๆ นี้เช่นกัน

นายณัฐพล กล่าวต่อว่า การจัดประชุมหารือระดมความคิดและรับฟังความเห็นในแต่ละพื้นที่นั้น กสอ. จะเชิญผู้นำพื้นที่ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สมาพันธ์เอสเอ็มอีจังหวัด สภาเกษตรกรจังหวัด ผู้ประกอบการในพื้นที่ และผู้นำชุมชนในทุกระดับ มาร่วมด้วยช่วยกันชี้กลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมาย เพื่อให้ได้รับบริการตรงความต้องการ ตามเป้าหมายของแต่ละโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ อีกทั้ง ยังจะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

ซึ่งทำให้ กสอ. สามารถส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการได้อย่างตรงความต้องการ นอกจากนี้ กสอ. ยังจะรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้จากพื้นที่ไปดำเนินการจัดทำมาตรการโครงการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในปีต่อ ๆ ไป ได้ตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการประชุมหารือครั้งนี้ พบว่าส่วนใหญ่มีข้อเสนอแนะให้ กสอ. เน้นการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ ที่มีศักยภาพสูงและสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ การสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการ โดยให้ภาคเอกชนสามารถใช้พื้นที่สำหรับงานวิจัยต่าง ๆ และร่วมกันต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการฝึกงานด้วย ขณะเดียวกัน อยากให้มีการส่งเสริมและต่อยอดผลงานของนักศึกษาที่ชนะการประกวดจากโครงการต่าง ๆ ของ กสอ. ให้สามารถพัฒนามาสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง การส่งเสริมและสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนเข้าถึงแพลตฟอร์มการทำตลาดออนไลน์และระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ของวิสาหกิจชุมชนให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากขึ้น ตลอดจนการหาแหล่งเงินทุนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเสนอให้มีการเพิ่มข้อจำกัด และคุณสมบัติในการนำเงินทุนไปใช้ในการประกอบธุรกิจให้กว้างขึ้นและการปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติการกู้เงินให้มีความรวดเร็ว

"เพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้ปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลเซอร์วิส กสอ. จึงมีนโยบายให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนทุกรายที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้ง ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมงานกับ กสอ. ลงทะเบียนเป็นสมาชิกด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ i-Industry ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และตรงประเด็นยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งเสริมอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกในการยกระดับการทำงานของ กสอ. และเป็นการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการที่ตรงจุด เกิดการสร้างมูลค่าและการผลักดัน รวมถึงเป็นการเร่งกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชุมชนทั่วประเทศไทยอย่างแท้จริง" นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

HTML::image( HTML::image( HTML::image(