ร่างกายเจ็บป่วยได้ จิตใจก็สามารถเจ็บป่วยได้เช่นกัน สถานการณ์ด้านสุขภาพจิตในประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้น จากผลกระทบทางสังคมและภาวะเศรษฐกิจ แนวโน้มผู้ป่วยซึมเศร้าของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปีโดยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 1.8 ล้านคน และพบว่าปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 2-3 คน / ชั่วโมง นับเป็นความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้
จึงเป็นแรงบันดาลใจให้สตาร์ทอัพสายเฮลท์เทค บริษัท พอดีคำ ดอทเอไอ จำกัด ประกอบด้วย ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , ดร.ยงยศ แก้วพิทักษ์คุณ Co-Founder , พณิดา โยมะบุตร นักจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จับมือกันวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพจิต เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เป็นรายแรกของประเทศไทย ในชื่อ “จับใจ บอท เพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” เป็นระบบหุ่นยนต์เอไอเพื่อนคุยแสนอบอุ่นที่สามารถตรวจจับเข้าถึงระดับจิตใจเพื่อช่วยคัดกรองและประเมินสภาวะซึมเศร้าเบื้องต้น เพื่อดูว่ามีแนวโน้มป่วยซึมเศร้าหรือไม่ หากพบว่ามีอาการซึมเศร้ามากก็ช่วยให้ผู้ใช้ตัดสินใจไปพบแพทย์ได้เร็วขึ้น
ล่าสุดนวัตกรรม “จับใจ บอท” คว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ:ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2563 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นอกจากนี้ยังสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในเวทีโลกโดยได้รับความชื่นชมจาก 30 ประเทศที่มาร่วมงานประชุมนานาชาติ Technology Mind & Society ซึ่งจัดโดย American Psychological Association ในรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา อีกด้วย
ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี นักวิจัยและอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “จับใจ บอท(Jubjai Bot) เอไอคัดกรองภาวะซึมเศร้านี้ ถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่า เราอยากจะให้วัยรุ่น คนรุ่นใหม่วัยทำงานและทุกเพศวัยสามารถใช้งานได้ง่าย สะดวก และลดขั้นตอนใช้งานให้น้อยที่สุดมาเป็นแชทบอท บนสื่อโซเชียลที่ทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี นั่นก็คือ Facebook messenger จึงสะดวกแก่ผู้ใช้ นอกจากนี้ เราพัฒนาสร้างรูปแบบการสนทนาให้มีความเป็นกันเองและเข้าใจง่าย ผู้ใช้รู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับบอทครับ
ฟังก์ชั่นของ จับใจ บอท ปัจจุบันมี 2 ฟังก์ชั่น ได้แก่ 1. ประเมินระดับความซึมเศร้าภายในจิตใจ โดยในฟังก์ชั่นนี้ ผู้ใช้จะพูดคุยตามโปรแกรมบทสนทนาที่พวกเราเตรียมไว้ ซึ่งออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจะมีทั้งคำถามปลายเปิด มีการเล่นเกมส์ตอบคำถาม โดยภายหลังจากการพูดคุย ระบบเราจะใช้ระบบ AI ในการประมวลผลคำตอบทั้งหมด ก่อนจะสรุปมาเป็นคะแนนระดับความซึมเศร้าในจิตใจและคำแนะนำสำหรับแต่ละช่วงระดับคะแนน ซึ่งเราได้ทำการวิจัยผลที่ได้จากจับใจบอทว่ามีความใกล้เคียงกับผลที่ได้จากการประเมินด้วยแบบประเมินสภาวะซึมเศร้ามาตรฐาน ทำให้มั่นใจได้ถึงความถูกต้องครับ 2. การพูดคุยเล่น (Chitchat) ผู้ใช้จะสามารถพูดคุยกับ จับใจ บอท ในหัวข้อทั่วไป ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกผ่อนคลาย แก้เหงา และมีเพื่อนพูดคุยในเวลาที่ต้องการได้ ซึ่งในอนาคต เรามีแผนการที่จะพัฒนาฟังก์ชั่นให้สามารถประเมินหาสภาวะซึมเศร้าจากประวัติ พฤติกรรมการสนทนา ซึ่งจะเตือนผู้ใช้งานได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ (Proactive Alert)
ดร.ยงยศ แก้วพิทักษ์คุณ Co-Founder บริษัท พอดีคำ ดอทเอไอ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้ทั้งคนรุ่นใหม่และทุกเพศวัยเข้ามาพูดคุยกับ Jubjai Bot แล้วกว่า 110,000 ราย วิธีใช้งาน ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปใช้งานโดยเสิร์ชหาคำว่า Jubjai Bot ในช่องค้นหา ของแอพลิเคชั่นเฟสบุ้ค หลังจากเข้ามาที่หน้าเฟสบุ้คเพจจับใจบอทแล้ว ก็สามารถกดปุ่ม “ส่งข้อความ” เพื่อเริ่มคุยได้ทันที ประโยชน์ของจับใจ คือ ระบบ เอไอ แชทบอท เป็นระบบสนทนาอัตโนมัติ สามารถใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา ใช้งานได้ฟรี รวมทั้งยังมีความเป็นส่วนตัวสูง จึงทำให้ผู้ใช้สามารถประเมินสภาวะซึมเศร้าได้ด้วยตัวเองและเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วขึ้น จุดเด่นคือเป็นแชทบอทแรกในประเทศไทยที่เน้นไปที่การประเมินสภาวะทางอารมณ์ของผู้ใช้ ควบคู่ไปกับเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งแชทบอททั่วไปไม่ได้เน้นเกี่ยวกับจิตใจ
พณิดา โยมะบุตร หนึ่งในทีมวิจัย นักจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคซึมเศร้า เป็นความเจ็บป่วยทางอารมณ์ แบ่งออกเป็น 3 แบบ 1. Major Depressive Disorder คือโรคซึมเศร้าแบบที่มีอาการรุนแรงต่อเนื่อง สองสัปดาห์ขึ้นไป มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างชัดเจน 2.Dysthymia คือมีความเศร้าไม่รุนแรง แต่มีระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน รบกวนการดำเนินชีวิตพอสมควร 3. Bipolar Disorder ในช่วงที่มีช่วงอารมณ์ซึมเศร้าเป็นอาการหลัก ซึ่งอาการเหล่านี้ต้องให้จิตแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย การรักษาโรคซึมเศร้าจะต้องรักษาทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านอารมณ์ ด้านความคิด และด้านร่างกาย (การเสียสมดุลของสารเคมีในสมอง) โดยในการรักษา จะต้องทำให้ครอบคลุมทุกด้าน จะมีการใช้ยาในการรักษาด้วย เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอาการผิดปกติในการทำงานของสารเคมีในสมอง ส่วนการรักษาทางด้านความคิดและการจัดการอารมณ์ จะใช้การทำจิตบำบัด ซึ่งเป็นการพูดคุยตามหลักการทางจิตวิทยา นอกจากนี้ความเข้าใจ ใส่ใจ และการเป็นผู้ฟังที่ดีของคนรอบข้าง เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผู้ป่วยซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี
บทบาทของนักจิตวิทยาในการดูแลผู้ป่วยซึมเศร้านั้น จะเริ่มตั้งแต่การประเมิน โดยแบบประเมินมาตรฐานทางจิตวิทยาคลินิก และการบำบัดรักษาทางจิตสังคมโดย ใช้การพูดคุยหรือการทำจิตบำบัด เพื่อประคับประคองอารมณ์ ปรับกระบวนการคิด มุมมอง และสร้างทักษะการจัดการกับอารมณ์และปัญหา ซึ่ง “จับใจแชทบอท” นี้ ถือเป็นเครื่องมือที่นอกจากจะเอื้อให้บุคคลทั่วไปสามารถประเมินภาวะซึมเศร้าของตนเองได้แล้ว ผู้ป่วยที่รับการรักษาอยู่ ยังสามารถใช้แชทบอทนี้ ประเมินความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอารมณ์ตนเอง เพื่อนำไปให้ข้อมูลแก่ผู้รักษาหรือนักจิตวิทยาของตนได้อีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit