ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ แปลงผักขนาดกลางเขียวชอุ่ม ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำจากการปั่นจักรยานรดน้ำแปลงเกษตรของนักเรียนโรงเรียนบ้านหอมเกร็ด ที่ผลัดเวรกันมาดูแลผลผลิตเพื่อมื้อกลางวันแสนอร่อยและปลอดจากสารเคมี
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แนวคิดปลูกผักด้วยจักรยาน มาจากการผสมผสานวิศวกรรมศาสตร์มาใช้ในแปลงเกษตร โดยฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะวิศวะมหิดล ร่วมกับ โรงเรียนบ้านหอมเกร็ด จ.นครปฐม พัฒนาจักรยานเหลือใช้มาซ่อมแซม ใช้ปั่นสำหรับการรดน้ำในแปลงเกษตรอินทรีย์เพื่อให้เยาวชนได้ออกกำลังกายไปในตัว ซึ่งผักที่งอกงามและปลอดภัยนี้นำมาปรุงเป็นอาหารกลางวันให้น้อง ๆ มีสุขภาพที่ดี ช่วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย โดยได้ส่งมอบแก่ นายเจน เกิดโพชา ผอ.โรงเรียนบ้านหอมเกร็ด พร้อมด้วยทีมจาก บมจ.เอส.ซี.จี คณะครู นักเรียน และชุมชนมาร่วมงาน
แปลงปลูกผักด้วยจักรยานรดน้ำ ของโรงเรียนบ้านหอมเกร็ด มี 2 แปลง ได้แก่ 1. แปลงผักกลางแจ้ง มีเนื้อที่ 10x30 เมตร ทางโรงเรียนจะปลูกพืชสวนครัว กระเพรา มะนาว มะกรูด ตะไคร้ ซึ่งเป็นพืชที่ทนแดดกลางแจ้งได้ โดยเดินท่อติดหัวสปริ้งเกอร์ 5 หัว มีระยะห่างกัน 4 เมตร 2. แปลงผักกางมุ้ง ขนาด 5x20 เมตร มีแปลงผักย่อย 6 แปลง ขนาดแปลงละ 1x2 เมตร และมีแปลงผักลอยฟ้า สำหรับพืชที่จะมีแมลงรบกวนและทนแดดจัดไม่ได้ เช่น ผักบุ้ง คะน้า ผักกาด เป็นต้น
ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทีมวิศวะมหิดล ได้ร่วมกันออกแบบและผลิต “จักรยานรดน้ำปลูกผัก” โดยใช้พลังงานกล แทนการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้าและประหยัดพลังงานคน พร้อมไปกับช่วยส่งเสริมสุขภาพการออกกำลังกายแก่น้อง ๆขณะปั่นจักรยาน ด้วยครับ ส่วนประกอบ ได้แก่ 1. จักรยาน 2. สายพาน 3. ปั้มน้ำแบบชัก 4. ท่อ PVC ขนาด ?” และท่อ PVC ขนาด ?” 5. หัวสปริงเกอร์ 6. ท่อ PVC ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว 7. ข้อต่อท่อขนาดต่าง ๆ 8. เซนเซอร์และมิเตอร์ สำหรับตรวจวัดความเร็วรอบ ระยะทาง และปริมาณแคลอรี่ ที่เผาผลาญไปกับการปั่นจักรยาน
นายอัครพงศ์ กีรติกรณ์ธนายศ (เก้า) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิศวกรรมไฟฟ้า หนึ่งในทีมจิตอาสาคณะวิศวะมหิดล กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินงาน 1.เรานำจักรยานเก่ามารีไซเคิลซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานปั่นได้ 2. ทำแท่นยึดจักรยานเพื่อวางจักรยานยึดติดกับแท่นยึด โดยวัดขนาดจากตัวจักรยานและระยะของปั๊มกับจักรยานให้สัมพันธ์กัน 3. หาทำเลที่มีแหล่งน้ำที่สามารถจะดูดน้ำขึ้นมาใช้รดแปลงเกษตรได้ 4. วางแผ่นปูนหรือเทปูนเพื่อปรับพื้น วางแท่นจักรยานกับปั้ม 5. ติดตั้งแท่นจักรยานกับปั้ม นำหลักการความรู้ทางฟิสิกส์ จากศาสตร์เทคโนโลยีวิศวกรรมและคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ โดยนำสายพานมาสวมที่ล้อหลังและอีกข้างหนึ่งสวมกับมูเล่ของปั้มน้ำ แล้วเริ่มเดินท่อน้ำจากแหล่งน้ำมาเข้าปั้ม โดยใส่ฟุตวาวล์ตรงตำแหน่งท่อที่จะขึ้นจากแหล่งน้ำมาเข้าปั้ม 6. ต่อท่อออกจากปั้มไปยังร่องแปลงเกษตร ที่วางแนวไว้เพื่อใส่หัวสปริงเกอร์ 7. เมื่อปั่นจักรยานโดยใช้แรงคนก็จะทำให้น้ำถูกสูบจากแหล่งน้ำไปยังแปลงเกษตร ตามระบบกาลักน้ำครับ
นายธีธัช สายเพ็ชร์ (ธี) นักเรียน Grade 10 โรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมจิตอาสา กล่าวถึง การใช้งานจักรยานรดน้ำผัก ว่า เมื่อออกแรงปั่นจักรยาน จะทำให้ล้อหลังที่มีตุ้มถ่วงทำงาน โดยใช้แรงเหวี่ยงของล้อหลังที่มีน้ำหนักเป็นตัวส่งกำลังผ่านสายพานไปยังมูเล่ปั้มน้ำ ทำให้ปั้มน้ำทำงานดูดน้ำจากบ่อน้ำ ส่งจ่ายไปตามท่อถึงหัวสปริงเกอร์ น้ำก็จะกระจายรดน้ำแปลงผักตามที่เราวางแนวสปริงเกอร์ไว้ครับ รู้สึกภูมิใจที่ได้นำสิ่งของที่ไม่ใช้มาดัดแปลงให้เกิดคุณค่าประโยชน์ครับ
ครูและนักเรียนช่วยกัน ดูแลและบำรุงรักษา ซึ่งทำได้ไม่ยาก เช่น ควรทำความสะอาดและตรวจเช็คหัวกรองหรือฟุตวาวล์ ที่ปลายท่อจุ่มลงไปในแหล่งน้ำหรือบ่อเก็บน้ำเสมอ เพราะอาจมีสิ่งสกปรกมาอุตตันและทำให้ปั๊มน้ำเสียหายได้, หากปั่นน้ำแล้ว น้ำไม่ไหลออกจากหัวสปริงเกอร์อาจมีสาเหตุมาจากมีอากาศค้างอยู่ในระบบท่อ ต้องกรอกน้ำที่วาวล์เซอร์วิสให้เต็มระบบแล้วปิดวาวล์ให้สนิท ไล่อากาศในระบบให้หมด, ตรวจเช็คข้อต่อที่ระบบดูดน้ำว่ามีรอยรั่วตรงไหนหรือไม่,ตรวจเช็คความตึงหย่อนของโซ่จักรยาน และหมั่นหยอดน้ำมันโซ่เป็นประจำ, ตรวจเช็คความตึงสายพานให้อยู่ในระดับที่พอดี ถ้าหย่อนก็จะทำให้การปั่นปั้มน้ำไม่มีประสิทธิภาพ, ตรวจเช็คเซ็นเซอร์ในกรณีที่มิเตอร์ไม่อ่านค่า ให้ตรวจเช็คตำแหน่งที่เซนเซอร์จับความเร็วรอบว่าตรงกับตำแหน่งที่กำหนดจุดเซนเซอร์ไว้หรือไม่ หรือมีการเคลื่อนที่ของเซนเซอร์หรือไม่
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit