มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดโครงการ Service Innovation Fellowship Programme (SIF) เตรียมความพร้อมนักวิจัยเพื่อขับเคลื่อน อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร

11 Feb 2020
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดโครงการ Service Innovation Fellowship Programme (SIF) ระหว่างวันที่ 29 – 31 มกราคม 2563 ณ จังหวัดนครปฐม และกรุงเทพมหานคร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดโครงการ Service Innovation Fellowship Programme (SIF) เตรียมความพร้อมนักวิจัยเพื่อขับเคลื่อน อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดย อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร (Maejo Agro-food Park; MAP) นำคณะผู้บริหารและนักวิจัยของมหาวิทยาลัยศึกษาดูงานย่านสร้างสรรค์ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC, ศึกษาธุรกิจเกื้อกูลสังคม สามพรานโมเดล ณ สามพรานริเวอร์ไซต์ จ.นครปฐม, เรียนรู้การสร้างสรรค์ Culinary Space ในการออกแบบอาหาร ณ บ้านเทพา, ศึกษาแนวคิดและการจัดสรรพื้นที่การเรียนรู้ ณ สามย่านมิตรทาวน์ และดูงานพื้นที่วิจัยและพัฒนา ณ เมืองนวัตกรรมอาหาร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ผศ.ดร.ทองเลียน บัวจูม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า "โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ เพิ่มพูนวิสัยทัศน์ และเรียนรู้การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ในมิติต่างๆ ให้แก่ผู้บริหารและนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบและสร้างสรรค์ การนำงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมาใช้ประโยชน์เพื่อบริการชุมชนและประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายส่วนหนึ่งคือการผลักดันให้พื้นที่แม่โจ้กลายเป็นย่านนวัตกรรมเกษตร-อาหาร (Ago-Food District) มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านศิลปะวิทยาการอาหาร (Gastronomy) สู่การเป็นเมืองนวัตกรรมและวัฒนธรรมอาหาร (Gastropolis) โดยใช้องค์ความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และมรดกภูมิปัญญา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้จะครบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2577 นี้"

สำหรับอุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร (Maejo Agro-food Park; MAP) หรือชื่ อเดิมสถาบันบ่มเพาะวิสาหกิจ (UBI) มีภารกิจหลักขับเคลื่อน เชื่อมโยง สร้างสรรค์ร่วม เพื่อนำงานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผ่านรูปแบบการดำเนินงาน (Platform) ต่างๆ ได้แก่การบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ตลอดจนการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน (University-Industry Linkage) โดยอาศัยกลไกภาครัฐต่างๆ เช่น เมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยาย (Food Innopolis) มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) การส่งเสริมการทำงานงานวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน (IRTC, Co-Research และ Research Gap Fund) และกลไกอื่นๆ เพื่อเป้าหมายในการผลักดันให้พื้นที่แม่โจ้เป็นย่านนวัตกรรมเกษตร-อาหาร