นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาของผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทย เป็นปัญหาที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 และเรื่องของฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มีอันตรายต่ออวัยวะในร่างกายและสุขภาพของทุกคน สาเหตุเนื่องจากคนไทยยังคงมีพฤติกรรมการบริโภคเค็มเกินความพอดีจนเกิดเป็นโรคไต และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรัง จึงทำให้ภาครัฐบาลจำเป็นต้องมีการรณรงค์เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง
การจัดงานกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม ประจำปี 2563 ประจำปีนี้ จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2563 ณ ลานอีเดน ชั้น 1 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 10.00 -19.00 น. โดยในปีนี้ได้เน้นไปที่หัวข้อการป้องกันโรคไต ในคำขวัญที่ว่า "คัดกรอง ป้องกัน รู้ทัน โรคไต" ส่วนการจัดงานกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลก จะจัดทุกวันพฤหัสบดี ในอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 12 มีนาคมนี้ ซึ่งจะมีหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลและสถานพยาบาล สำนักงานอนามัยต่าง ๆ ช่วยกันจัดกิจกรรมวันไตโลก เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงการบริโภครสชาติเค็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
จากสถานการณ์โรคไตในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก คนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน ผลที่ตามมาคือมีภาวะไตเสื่อมและไตเสื่อมเร็วขึ้น หากปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง จากข้อมูลพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย ส่วนการผ่าตัดเปลี่ยนไตทำได้เพียงปีละ 500 ราย จึงเน้นการชะลอความเสื่อมของไตเพื่อให้เข้าสู่ระยะที่ต้องล้างไตช้าลงนอกจากนี้พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป ทำให้พบโรคไตในเด็กด้วยสาเหตุหนึ่งคือการรับประทานอาหารเค็ม ฟาสต์ฟูด ขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่น เกาหลี ที่กำลังเป็นที่นิยม เนื้อหมักใส่ซอสปรุงรส เกลือ ผงหมัก รวมน้ำจิ้มแล้ว โดยรวมความเค็มมากกว่าอาหารปกติถึง 5-10 เท่า อาหารแช่แข็งมีความเค็มมากกว่าปกติถึงร้อยละ 30 ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนหันมาใส่ใจด้วยการลดบริโภคเค็มลงจะช่วยให้มีสุขภาพดี ประหยัดค่ารักษาพยาบาลให้ภาครัฐได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท และจะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไตเรื้อรังได้อีกมาก
ด้าน นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึง การส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตว่า ในแต่ละปี ได้จัดงบประมาณหลายล้านบาท โดยเน้นส่งเสริมป้องกันดูแลแบบครบวงจร นอกเหนือจากงบประมาณการล้างไตผ่านช่องท้อง การฟอกเลือด และการปลูกถ่ายไต ซึ่งผลการทำงานในแต่ละปี จะมีจำนวนผู้ป่วยสูงเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เพิ่มขึ้นทุกปี สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยป่วยเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมากขึ้น
สปสช.จึงได้เน้นส่งเสริมการป้องกันควบคู่กับการดูแลรักษา โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไม่ให้ป่วยเป็นไตวายเรื้อรังระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ได้ให้สิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายครบวงจร รวมถึงสิทธิของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคมด้วย เพื่อให้เข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง ครอบคลุมการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายไต การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมถึงการให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
ทั้งนี้ในปี 2563 ที่ผ่านมา สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณการบำบัดทดแทนโรคไตวายเรื้อรังจำนวนกว่า 9,405 ล้านบาท โดยตั้งเป้าจะมีผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 61,948 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน 31,047 ราย การฟอกเลือดจำนวน 28,546 รายและการผ่าตัดเปลี่ยนไตจำนวน 172 ราย ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน 2,183 ราย ซึ่งล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 59,830 คนแบ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตผ่านช่องท้องแล้ว จำนวน 30,627 ราย การฟอกเลือดแล้ว 26,633 ราย ผ่าตัดเปลี่ยนไต 205 ราย และได้รับยากดภูมิจำนวน 2,365 ราย ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไตประมาณ 200,000 บาทต่อคนต่อปี
นอกจากการรักษาพยาบาลแล้วสปสช.ได้ส่งเสริมให้มีเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในโรงพยาบาล ปัจจุบันมีสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาเครือข่ายผู้ป่วยให้เข้มแข็ง ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษา มีความรู้ ความมั่นใจในการดูแลตนเองตามมาตรฐาน สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย และครอบครัว ทำให้เข้าใจสิทธิการรักษา ลดปัญหาความขัดแย้ง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการได้อีกทางด้วย รวมถึงการส่งเสริมการป้องกันโรค การตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อไม่ให้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นไตวาย หากป้องกันไตวายจะช่วยชะลอไตเสื่อมก่อนเวลาได้ และสนับสนุนให้มีการตั้งคลินิกเฉพาะในโรงพยาบาลอีกด้วย
ด้านผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็มและคณะทำงานการจัดงานวันไตโลก กล่าวว่า การจัดกิจกรรมวันไตโลก ในปี 2563 ภายใต้คำขวัญ "คัดกรอง ป้องกัน รู้ทัน โรคไต" โดยจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2563 ณ ลานอีเดน ชั้น 1 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายในงานจะมีการการตรวจสุขภาพไตฟรี โดยได้เตรียมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตมาพบกับประชาชน โดยที่ประชาชนไม่ต้องไปโรงพยาบาล และมาตรวจได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งการตรวจจะเป็นการตรวจคัดกรองโรคไตเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ การตรวจค่าการทำงานของไตจากการเจาะเลือด (blood urea nitrogen และ creatinine) หรือการตรวจปัสสาวะ (urinalysis) และปริมาณโปรตีนที่รั่วในปัสสาวะ (albuminuria) ภายในงานพบกับเหล่าศิลปิน ดารานักแสดงจากช่อง 3 และ ช่อง 7, การเสวนาความรู้ ในหัวข้อ "คัดกรองป้องกัน รู้ทันโรคไต" , การสาธิตการปรุงอาหาร ช่วง "อาหารคลีนดีมีประโยชน์ และสาธิตการปรุงอาหาร" เมนูอร่อย ลดความเสี่ยงโรคไต โดย เชฟชื่อดังและการเสวนาให้ความรู้เรื่องโรคไต ในหัวข้อ เสวนาความรู้ ในหัวข้อ "อาหาร และการออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคไต" โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไตเฉพาะทาง และจำหน่ายเสื้อวันไตโลก ในราคาพิเศษเพียงตัวละ 220 บาท รายได้เพื่อสมทบทุนมูลนิธิโรคไต
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit