ดร.นวลอนงค์ ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการ โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่าทางโรงเรียนมุ่งเน้นให้นักเรียนและนักศึกษาทุกประเภทสาขาวิชา ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงได้เรียนรู้ผ่านการลงมือจริงควบคู่กับการศึกษาในห้องเรียน เพื่อที่นำความรู้มาประยุกต์ใช้ ต่อยอด และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้นักเรียนนักศึกษาจดจำ เรียนรู้ และเข้าใจในบทเรียนรวดเร็ว เช่น รายวิชาธุรกิจจัดเลี้ยง ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ชั้นปีที่ 2 สาขางานเชฟอาหารไทย ประเภทวิชาคหกรรม ที่หลังจากจบการเรียนทฤษฎีจากอาจารย์แล้วนักศึกษาต้องเปิดร้านอาหารสาธิตได้ โดยใช้ความรู้ที่เรียนมาเป็นแนวทางปฎิบัติ วิธีการเรียนแบบลงมือปฏิบัติจริงจะช่วยสร้างประสบการณ์ให้นักเรียนนักศึกษาโดยตรง โดยมีครูผู้สอนเป็นที่ปรึกษา เมื่อนักเรียนนักศึกษาต้องออกไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการจะส่งผลให้การเรียนรู้ระบบงาน การแก้ปัญหา และการปรับตัวมีความรวดเร็วกว่านักเรียนนักศึกษาที่เรียนเฉพาะตำราเรียนอย่างเดียว
นายฐานริส นุสดิน นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปีที่ 2 สาขาเชฟอาหารไทย เล่าถึงกระบวนการเตรียมงานว่าทีมงานได้ร่วมกันวางแผนจัดคอร์สอาหารซึ่งแบ่งเป็นคอร์ส A และคอร์ส B แต่ละคอร์สจะมีเมนูอาหารทานเล่น อาหารจานหลัก ซุป และของหวานที่แตกต่างกัน จากนั้นทำการสำรวจโดยให้ครู นักเรียนและนักศึกษาทำแบบสำรวจจำนวน 50 ชุด เพื่อหาว่าคอร์สอาหารคอร์สใดได้รับความสนใจมากที่สุด ผลปรากฏว่าทั้ง 2 คอร์สได้รับความนิยมเท่ากันทีมงานจึงคัดเลือกเมนูอาหารที่ได้คะแนนสูงสุดของแต่ละคอร์สมาเป็นอาหารของร้านสาธิต "รสไทยไฮโซ" ได้แก่ เมนูพล่ากุ้งสำหรับเรียกน้ำย่อย เมนูซุป 3 กษัตริย์ ปรุงจากเนื้อสัตว์ 3 ชนิด ได้แก่ กุ้ง หมู และไก่ โดยใช้น้ำสต็อกไก่ที่ตุ๋นพร้อม 3 เกลอ คือ กระเทียม พริกไทยดำ และรากผักชี เมนูจานหลักคือข้าวสวยน้ำดอกอัญชัญทานคู่กับแกงปูใบชะพลู และปลากะพงฟูซอส 3 รส ปิดท้ายด้วยของหวานเมนูไดฟูกุหยกมณีสตรอว์เบอร์รี ของหวานสไตล์ฟิวชั่นที่ผสมผสานความเป็นไทยและญี่ปุ่นอย่างลงตัว มาพร้อมกับเครื่องดื่มสุดพิเศษน้ำตะไคร้อัญชัน เมื่อได้เมนูอาหารแล้วจึงวางแผนการเลือกใช้วัตถุดิบ การคำนวณวัตถุดิบ การซื้อวัตถุดิบ การเตรียมวัตถุดิบ การปรุง การออกแบบการนำเสนออาหาร (Food Stylist) การคิดราคาคอร์ส การตกแต่งสถานที่ การจัดโต๊ะอาหาร การคำนวณต้นทุนกำไร การขายคอร์ส การดูแลลูกค้า และการบริการระหว่างมื้ออาหาร เป็นต้น ส่วนที่ยากที่สุดคือการวางแผนการจัดเตรียมร้าน เพราะต้องคำนึงถึงโทนสี รสชาติ ความเข้ากันของบรรยากาศกับเมนูอาหาร และความเป็นไปได้ สำหรับที่มาของชื่อรสไทยไฮโซคือต้องการนำเสนอถึงความแปลกใหม่ ความน่าสนใจของอาหารไทยที่ต่างจากรูปแบบเดิมๆ โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้มาตรฐาน HACCP Hazard Analysis Critical Control Point คือ มาตรฐานควบคุมดูแลความปลอดภัยในทุกกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อป้องกันอันตรายและสิ่งปนเปื้อนในอาหาร ได้แก่ อันตรายทางชีวภาพ (biological hazard) จุลินทรีย์ก่อโรค (pathogen) อันตรายทางเคมี (chemical hazard) และอันตรายทางกายภาพ (physical hazard)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit