ทุเรียนป่าละอู ถือได้ว่าเป็น "ทุเรียนพระราชทาน" สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระราชทานพันธุ์กล้าทุเรียนหมอนทองและพันธุ์ผลไม้อื่นให้ราษฎรนำไปปลูกเป็นอาชีพสร้างรายได้ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนอานันท์ ที่บ้านป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2509 ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยงานภาครัฐจัดหาพื้นที่ว่างเปล่าในเขตจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ มาจัดสรรให้ราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในเขตพื้นที่บ้านป่าละอูและบ้านป่าเด็งที่ไม่มีที่ทำกินในรูปแบบของสหกรณ์ โดยให้มีสิทธิครอบครองชั่วลูก ชั่วหลานแต่ไม่ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้มีการรวบรวมราษฎรและชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงมาอยู่รวมกัน เพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า และรักษาความปลอดภัยของชาติบริเวณชายแดน ตลอดจนมอบหมายให้หน่วยงานภาคราชการเข้าไปดูแลช่วยเหลือ แนะนำ วางแผนการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ให้กับสมาชิกที่อยู่ในโครงการ ในปี พ.ศ. 2526 สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา เพื่อส่งน้ำให้ราษฎรในสหกรณ์ ห้วยสัตว์ใหญ่ที่อยู่ในเขตตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ใช้ในการเกษตรและการอุปโภค-บริโภค แต่เนื่องจากอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลาเก็บน้ำได้ประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่พอเพียงต่อการเกษตรในเขตสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ดังนั้นในคราวประชุมติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ประชุมจึงมีมติให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่สหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ โดยให้ กรมชลประทานดำเนินการสำรวจศึกษาและวางโครงการอ่างเก็บน้ำป่าละอู (ป่าเลาเดิม) และ และศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่สหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่
ด้วยเหตุที่โครงการอ่างเก็บน้ำป่าละอูมีพื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติป่าละอู ซึ่งได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ในการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำป่าละอูกรมชลประทานจึงต้องดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 การศึกษาได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 พร้อมแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนงานในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรโดยรอบพื้นที่โครงการให้ดียิ่งขึ้น
หนึ่งในนั้นคือแผนการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเปรียบได้กับการสอนให้ชาวบ้านตกปลา ดีกว่าจับปลามาให้ชาวบ้าน เป็นการช่วยเหลือเยียวยาที่ยั่งยืน เพราะนอกจากสร้างรายได้อย่างงามในแต่ละปีแล้ว ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านด้วย
"หลังจากที่กรมชลประทานจัดทำรายงาน EIA เสร็จเรียบร้อย ก็ส่งรายงานไปยังสำนักงานนโยบายและแผนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. พิจารณา คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารานยงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ก็เห็นชอบในรายงานฯ เมื่อปี พ.ศ. 2557 หลังจากนั้นก็ต้องไปขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติก็ได้มีมติให้เพิกถอนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 กรมชลประทานจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2561 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างตัวเขื่อนประมาณ 6 ปี ก่อสร้างระบบชลประทาน 3 ปี เมื่อสร้างเสร็จเราจะส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 6,000 กว่าไร่ ครอบคลุมทั้งพื้นที่สวน พื้นที่เลี้ยงสัตว์ พื้นที่ราษฎร รวมถึงครูและนักเรียนของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรป่าละอู ให้มีแหล่งน้ำใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค เนื่องจากขาดแคลนน้ำและที่ทำการเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสวนทุเรียนป่าละอู ตลอดเวลาที่ผ่านมาเกษตรกรต้องประสบปัญหาน้ำแล้งเกือบทุกปี จนเกิดผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตรวมถึงคุณภาพด้วย การที่เรามีการส่งน้ำเข้าไปอย่างเพียงพอจะทำให้ทุเรียนมีผลผลิตที่ดีขึ้น หรือพื้นที่ไหนที่ส่งน้ำไปไม่ถึง เราอาจทำอ่างเก็บน้ำแล้วให้ชาวบ้านสูบไปใช้ได้เพื่อส่งเสริมการปลูกทุเรียน ยิ่งมีน้ำผลผลิตทุเรียนก็จะดีขึ้น เพราะพื้นที่ป่าละอูมีปัญหาขาดแคลนน้ำมาก น้ำใต้ดินก็ไม่ค่อยมี " นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าว
ด้านเกษตรกรตัวจริงอย่าง นายประเทือง ออมพลสิริ เจ้าของสวนทุเรียนป่าละอู เล่าว่า ตลอดเวลา 30 กว่าปีที่ปลูกทุเรียนมาสร้างรายได้ให้ปีละหลายหมื่นบาท เพราะด้วยความที่ทุเรียนหมอนทองที่ปลูกที่ป่าละอูมีรสชาติดีกว่า หอมละมุนกว่า และเนื้อดีกว่าทุเรียนหมอนทองที่อื่น ซึ่งอาจเป็นเพราะดิน น้ำ และอากาศเหมาะสม แต่แทนที่ผลผลิตจะมากกว่านี้ก็ต้องหยุดชะงักเพราะหากเป็นช่วงหน้าแล้งน้ำจะไม่เพียงพอ"ช่วงหน้าแล้งที่นี่น้ำจะค่อนข้างขาดแคลน แล้วการปลูกทุเรียนเราต้องใช้น้ำบ่อย คือต้องรดน้ำตลอดทั้งปีจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิต เราต้องรดน้ำให้ได้สองวันครั้ง ถึงจะเป็นหน้าแล้งก็ต้องหาน้ำมารดให้ได้เท่านี้ ถ้าเรารดไม่สม่ำเสมอก็ไม่ได้ เราต้องคอยสังเกตดินถ้าเริ่มแห้งเราก็ต้องรดแล้ว"
ถึงปัญหาน้ำแล้งจะมาเยือนชาวบ้านที่นี่แทบทุกปี แต่ข่าวคราวว่าจะมีอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่มาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว เจ้าของสวนทุเรียนรายนี้ถึงกับออกปากชมว่าดีมาก"นี่เป็นเรื่องดีมากเลยครับ เพราะถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนบ้านหลังหนึ่ง มีคนอยู่สักสองคน และมีน้ำอยู่โอ่งหนึ่งก็พอใช้ แต่พอมีคนเพิ่มขึ้นเยอะๆ แต่น้ำยังมีโอ่งเดียวอย่างนี้ นำก็ต้องไม่พอใช้ แต่ทางกรมชลประทานมาสร้างเขื่อนให้นี่ดีมากเลย ปัญหาเรื่องน้ำจะได้หมดไป
จากที่ผมมีทุเรียนที่ให้ผลผลิตได้แล้วอยู่ 3 ต้น ขายทุเรียนได้ปีละก็หลายหมื่น เพราะทั้งผลดกและราคาดีด้วย ต่อไปนี้ก็มีโอกาสที่จะรายได้เพิ่มขึ้นกว่านี้อีก"
นอกจากนี้ นายมหิทธิ์ วงศ์ษา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ 2 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวเสริมว่า "เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ก็จะได้รับประโยชน์ด้วย เนื่องจากพื้นที่ชลประทานครอบคลุมพื้นที่ปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงโคนม รวมไปถึงการใช้น้ำเพื่อทำความสะอาดฟาร์มโคนมที่ต้องใช้น้ำค่อนข้างมาก ทว่าเดิมทีชาวบ้านใช้อ่างเก็บน้ำเก่าที่กักเก็บน้ำได้เพียง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำ บ้านป่าละอูอันเนื่องมาจากพระราชดำริกักเก็บน้ำได้มากถึง 10 ล้านลูกบาศก์เมตร และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น กรมชลประทานยังได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการก่อสร้างโครงการด้วย เช่น การปลูกป่าทดแทน การสร้างฝายชะลอน้ำ รวมทั้งการปรับปรุงหน่วยพิทักษ์ การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชให้เหมาะกับศักยภาพของดินรวมทั้งการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพดี ขายได้ราคาสูง ซึ่งถ้าเกษตรกรประสบความสำเร็จ กรมชลประทานก็ถือว่าคุ้ม เพราะเราลงทุนค่าก่อสร้างไปสูง"
ระบบชลประทานที่จะเกิดขึ้นอีกไม่นานจากนี้จะมาพลิกฟื้นวิกฤตน้ำแล้งอันมีผลกระทบรุนแรงต่อผลผลิตทางการเกษตร แล้วกระทบไปถึงคุณภาพชีวิตของชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้กลับมามีลมหายใจได้ต่อ และผลไม้ชื่อดังอย่างทุเรียนป่าละอูจะมีที่อยู่ที่ยืนตราบนานเท่านาน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit