กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้รายงานการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่ง ในช่วงฤดูฝน 2562 โดยได้คาดการณ์จาก Inflow ของปี 2558 ซึ่งมีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปัจจุบันว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ 19,342 ล้าน ลบ.ม. หรือ 41% ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าปี 2561 จำนวน 13,052 ล้าน ลบ.ม. และจากการณ์คาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณ 4,149 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีปริมาณน้ำใช้การณ์ 1,923.22 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม ได้มีมาตรการและการวางแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 กรณีสถานการณ์น้ำน้อยที่สุด ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ 1) การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคฤดูแล้ง 2) การจัดสรรน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศฤดูแล้ง 3) การสำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน เพื่ออุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 4) การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และ 5) การจัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมสำหรับฤดูแล้งปี 2562/63 (เดือนพฤศจิกายน 2562 - เมษายน 2563) ปริมาณน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่จัดสรรให้กับทั้ง 3 กิจกรรมหลัก คือ อุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ และเกษตรต่อเนื่อง อ้อย และอื่น ๆ วันละ 18 ล้าน ลบ.ม. ไม่เพียงพอที่จะจัดสรรน้ำให้ใช้เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง จึงจำเป็นต้องงดส่งน้ำเพื่อปลูกข้าวนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้งนี้ การจัดสรรน้ำจึงจำเป็นต้องพิจารณาความต้องการปริมาณน้ำต่ำสุดในกิจกรรมการใช้น้ำประเภทต่าง ๆ และควบคุมการระบายน้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด คือวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการควบคุม ติดตามให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ และสามารถทำให้มีน้ำใช้ในกิจกรรมที่จำเป็นได้ตลอดจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563
ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถส่งน้ำเพาะปลูกข้าวนาปรังฤดูแล้งได้ มีทั้งหมด 18 เขื่อน คือ ภาคเหนือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนแม่งัดฯ เขื่อนแม่กวงฯ เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนแม่มอก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ และเขื่อนลำนางรอง ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา และเขื่อนป่าสักฯ
นายเฉลิมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ มีกรอบมาตรการในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ปี 2562/63 ได้แก่ 1) การจ้างแรงงานชลประทาน 2) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เช่น การปลูกข้าวโดยวิธีเปียกสลับแห้ง สร้างการรับรู้ผ่านสื่อ แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ แนวทางการบริหารจัดการน้ำ การช่วยเหลือ การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดในการการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย และ 3) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เช่น ร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการปฏิบัติการฝนหลวง และสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit