“สื่อสังคมออนไลน์” ขัดแย้ง – คิดต่างให้สร้างสรรค์

19 Aug 2019
"มากกว่า 80% ของกลุ่มตัวอย่างเวลารับข่าวสารจากสื่อออนไลน์มักอ่านแล้วเชื่อเลย และส่วนใหญ่ก็พร้อมจะตัดสินคนอื่นในทันทีจากมาตรฐานถูกผิดของตนเอง มีเพียงไม่ถึง 20% ที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นก่อนจะทำการตัดสิน หรือ แสดงความคิดเห็น"
“สื่อสังคมออนไลน์” ขัดแย้ง – คิดต่างให้สร้างสรรค์

คือข้อค้นพบจากงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรประภา ชวะนะญาณ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งได้ทำวิจัยในประเด็นการพิจารณาข้อขัดแย้งของคนไทยในเว็บสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสำรวจ รวบรวม อันนำไปสู่ความเข้าใจความขัดแย้งที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และข้อเท็จจริงนี้ก็สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ที่รวบรวมพฤติกรรมการรับรู้ข่าวสารทางอินเตอร์ของคนในไทยในปี พ.ศ.2561 ระบุว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตยาวนานถึง 10 ชั่วโมง 5 นาทีและเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook, Instagram, Twitter รวมไปถึงเว็บไซต์อย่าง Pantip สูงถึง 3 ชม. 30 นาทีต่อวันซึ่งนับได้ว่าเป็นประเทศที่ใช้เวลาต่อวันอยู่กับอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก จึงไม่น่าแปลกที่สังคมไทยจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จนเกิดความขัดแย้งเช่นที่เราเห็นกันจนชินตาในสื่อสังคมออนไลน์

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรประภา ชวะนะญาณ ให้เหตุผลว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยอยู่ในวงล้อมของข้อขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม จริยธรรม และระเบียบวินัยในเว็บสื่อสังคมออนไลน์เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ขณะที่เหตุการณ์จำนวนมาก ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องของ การฆาตกรรม การคอรัปชั่น ความเท่าเทียมทางเพศ หรือ รูปแบบการปกครองประเทศ

ทัศนคติและความความเชื่อ เหตุแห่งความขัดแย้ง

เพราะปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ คือช่องทางหลักในการติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของสังคม หลายครั้งเราเองไม่ได้เข้าไปในฐานะคนเสพสื่อเพียงอย่างเดียว แต่ทำตัวในฐานะผู้ตัดสินในสนามสังคมออนไลน์นั้นด้วยข้อคิดเห็น คำวิจารณ์ในพื้นที่ comment กันอย่างสนุกปาก ความเสรีโดยไม่ต้องมีตัวตนที่ชัดเจนในสื่อออนไลน์หลายเกือบทุกครั้งจึงนำมาซึ่ง "สงครามน้ำลาย" ที่เต็มไปด้วยอารมณ์และการใส่ร้ายป้ายสีกันไปมาได้ในทุกหัวข้อสนทนา เลยเถิดไปจนถึงการด่าทอกันมากกว่าจะเป็นการแสดงออกทางความคิดบนฐานของเหตุผล

"จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งเกิดขึ้นจากการคิดเห็นไม่ตรงกัน กระทั่งนำไปสู่การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ตลอดเวลา" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรประภา ระบุ พร้อมเสริมว่า

"การแสดงความคิดเห็นของแต่ละคนมาจากความเชื่อทางด้านจริยศาสตร์และญาณวิทยาของตนเอง โดยความเชื่อทาง จริยศาสตร์ คือ ความเชื่อเกี่ยวกับเกณฑ์ตัดสินเชิงคุณค่า มาตรฐานความดี การกระทำที่ดี และ ความเชื่อทางญาณวิทยา คือ ความเชื่อเกี่ยวกับเกณฑ์ตัดสินความรู้ เกณฑ์การตัดสินแหล่งที่มาของความรู้ และเกณฑ์การตัดสินเหตุอันควรให้เชื่อของความรู้ของแต่ละบุคคล ซึ่งสองส่วนนี้ส่งผลต่อการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งทั้งนี้อาจบวกกับลักษณะของสังคมออนไลน์ที่หลายแห่งเป็น Anonymous Society คือไม่มีการบ่งบอกได้ว่าแต่ละบุคคลเป็นใคร จึงอาจทำให้ความขัดแย้งทางความคิดในสื่อสังคมออนไลน์ของคนไทยค่อนข้างรุนแรง เมื่อมีการแสดงความคิดเห็นเชิงตัดสิน เราจะเห็นพื้นฐานความเชื่อเกี่ยวกับมาตรฐานความดี-ชั่ว ของแต่ละคนต่างกันไป และหากเกิดความขัดแย้ง แต่ละคนใช้อะไรในการสนับสนุนความคิดของตัวเอง เช่น คำบอกเล่าของผู้อื่น ประสบการณ์ตรง หรือ ความรู้อันเป็นตำรา ซึ่งแต่ละคนก็จะให้ลำดับความสำคัญของส่วนนี้ต่างกัน"

เปิดใจ รู้ตัว เข้าใจ หนทางสู่การถกเถียงอย่างสร้างสรรค์

ถึงเวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์คงไม่ต่างอะไรกับสภากาแฟแถวบ้านที่สมาชิกต่างมาสนทนา วิจารณ์ข่าวสารที่ได้รู้มา หนึ่งบทบาทที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตต่างสวมอยู่โดยอาจไม่รู้ตัวก็คือการเป็น "ลูกขุนออนไลน์" ชี้ถูกผิดเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเมามัน แต่วิธีการ และการถกเถียง และนำไปสู่การตัดสินอย่างสร้างสรรค์ ไม่นำไปสู่กระบวนการ "ล่าแม่มด" ดังปรากฏในโลกออนไลน์ คือ "การเปิดใจ" ที่จะยอมรับความต่างทางความคิดของผู้อื่น และ "การตั้งคำถามกับความคิดความเชื่อของตนเอง" จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มีสติ ไม่กลายเป็นเหล่าลูกขุนออนไลน์ที่ชี้ผู้อื่นถูกผิดด้วยอีโก้ซึ่งมักคิดว่าตัวเองถูกเสมอ มั่นใจและเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่

"สังคมโซเชียลจัดเป็นแหล่งความรู้ที่ดีแหล่งหนึ่ง หลายคนได้ความรู้ใหม่จากพื้นที่นี้ ทุกประเด็นที่เกิดการถกเถียงได้ถือเป็นเรื่องดี แต่นั่นต้องขึ้นอยู่บนฐานความรู้ที่ถูกต้องและแย้งกันด้วยข้อมูล หากมองกันอย่างเปิดตาและเปิดใจ จะเห็นว่าการถกเถียงบนโลกออนไลน์คล้ายแผ่นงานศิลปะที่ทำให้เรามองเห็นแถบสีของความคิดความต่างของแต่ละบุคคล การมองเห็นตัวเองว่ามีพื้นฐานความเชื่อที่ทำให้แสดงความคิดบนโลกออนไลน์อย่างไร พื้นฐานความเชื่อนั้นมีความต่างจากคนอื่นด้วยเหตุใด อาจช่วยลดอีโก้ของตัวเองให้น้อยลง และเปิดรับความเห็นต่างได้มากขึ้น"

"เพราะการถกเถียงจะนำไปสู่การตกผลึกทางความคิดที่จะเป็นประโยชน์ให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งลดความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนไทยด้วยกันเอง และเป็นแนวทางที่ช่วยให้คนไทยสามารถตั้งรับกับสภาพสังคมที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมและมีความแตกต่างขัดแย้งทางความเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรประภา กล่าวทิ้งท้าย

“สื่อสังคมออนไลน์” ขัดแย้ง – คิดต่างให้สร้างสรรค์ “สื่อสังคมออนไลน์” ขัดแย้ง – คิดต่างให้สร้างสรรค์
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit