น.สพ.ศีลธรรม วราอัศวปติ ปศุสัตว์เขต 4 กล่าวว่า เชื้อโรค ASF ไม่ติดต่อหรือส่งผลกระทบต่อมนุษย์ แต่เป็นโรคระบาดรุนแรงในสุกรที่ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่พบการระบาดโรคดังกล่าวในประเทศไทย ถ้าหากพบจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์ รวมถึงผลกระทบด้านสังคมและความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ กรมปศุสัตว์จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการป้องกันโรค ASF อย่างเต็มที่ อาทิ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค (War Room) ในระดับจังหวัด การตรวจเยี่ยมมาตรการป้องกันโรคของสถานประกอบการ และระดมความร่วมมือภาคเอกชน อย่าง ซีพีเอฟ จัดอบรมให้เกษตรกรทุกจังหวัดในภาคอีสาน พร้อมลงพื้นที่ให้ความรู้เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยตื่นตัวและยกระดับการป้องกันโรคให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
"ภาคการเลี้ยงหมูของไทยส่วนใหญ่เป็นฟาร์มระบบปิดที่มีการป้องกันโรคที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว การผนึกกำลังระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยที่ส่วนใหญ่มีฟาร์มแบบเปิด ปฏิบัติตามระบบป้องกันโรคในฟาร์มอย่างเข้มงวด เป็นอีกแนวทางที่สำคัญในการช่วยป้องกันโรค ASF ในประเทศให้แน่นหนายิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของกรมฯ ในการดูแลการผลิตด้านปศุสัตว์ให้มีคุณภาพและปลอดภัย รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง" น.สพ.ศีลธรรมกล่าว
น.สพ.จตุรงค์ โยธารักษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจสุกร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ติดตามสถานการณ์โรค ASF ในสุกรอย่างใกล้ชิดมากว่า 1 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งยกระดับมาตรการป้องกันโรคในสถานประกอบการ โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มของบริษัทและของเกษตรกรในระบบคอนแทร็คฟาร์มครบ 100% พร้อมผนึกกำลังกับกรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรในภูมิภาค และ คู่ค้าบริษัทเวชภัณฑ์ ประกอบด้วย บริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ แอนิมอล เฮลม์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซีวา แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โซเอทิส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอ็มเอสดี แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมจัดโครงการอบรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรค ASF ในสุกร ให้แก่ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยให้ครบ 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเร่งเดินหน้าให้ความรู้มาตรการป้องกันโรคแก่ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในภูมิภาคอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีทีมงานร่วมกับปศุสัตว์อำเภอ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านลงพื้นที่ให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงระบบป้องกันโรค และมอบน้ำยาฆ่าเชื้อและอุปกรณ์ป้องกันโรคแก่เกษตรกรรายย่อยให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
"ขณะนี้ ซีพีเอฟได้ดำเนินการอบรมเกษตรกรรายย่อยในภูมิภาคต่างๆ กว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ มีเกษตรกรเข้าร่วมอบรมทั้งสิ้นกว่า 3,000 ราย ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมจะเร่งเดินหน้าอบรมให้แก่เกษตรกรรายย่อยในจังหวัดอุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม อำนาจเจริญ และเลย จนครบทั้งภาคอีสาน และจัดอบรมเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่อื่นๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป" น.สพ.จตุรงค์กล่าว
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคที่อาจเกิดจากกิจกรรมขนส่งสินค้าปศุสัตว์ที่นำเข้า-นำผ่าน-นำออกตามด่านพรมแดน โดยให้การสนับสนุนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและเอกชน ก่อสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ในจังหวัดชายแดน 2 จังหวัดที่มุกดาหาร และเชียงราย จากศูนย์ฯ ทั้งหมด 5 แห่ง เพื่อช่วยยกระดับความเข้มข้นในการป้องกันโรค ASF ระหว่างประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น.