นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม เรื่อง "เข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกันโรค ASF ในสุกร" กล่าวว่า การจัดอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรเจ้าของฟาร์มขนาดเล็กตื่นตัว ตระหนักถึงผลกระทบของโรคและร่วมกันเฝ้าระวังรวมถึงเตรียมความพร้อมในการป้องกันอย่างเข้มแข็ง
"จังหวัดอุดรธานีได้ติดตามสถานการณ์และประสานความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการป้องกันโรคระบาดอย่างเต็มที่ เนื่องจากจังหวัดอุดรธานีมีเขตพื้นที่ติดกับจังหวัดชายแดน จึงถือเป็นด่านหน้าป้องกันโรคชั้นที่สองที่จะป้องกันโรคไม่ให้เข้าไปสู่จังหวัดอื่นๆ" นายสิธิชัย กล่าว
น.สพ.พนธ์สมิทธิ์ กลางนภา ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานีได้สร้างเครือข่ายเกษตรกรเฝ้าระวังป้องกันโรค และร่วมมือกับ ซีพีเอฟ ในการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรค และแนะนำการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อการป้องกันโรคของฟาร์ม จาก บริษัท เอ็มเอสดี แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องโรค รู้วิธีป้องกันไม่ตื่นตระหนก และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคว่าการผลิตเนื้อหมูในอุดรธานี รวมถึงภาคอีสานปลอดภัยได้มาตรฐาน
นอกจากการอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยแล้ว วันนี้ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานียังได้จัดโครงการซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรค ASF ในสุกรไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ฝึกปฏิบัติร่วมกับเกษตรกร ตั้งแต่การแจ้งข่าวสาร จนถึงมาตรการต่างๆ อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือโรค ASF และหยุดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
"ขอย้ำว่าโรค ASF ในสุกร เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คน และขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าพบการระบาดของโรคในประเทศ หากพบสุกรแสดงอาการป่วยคล้ายโรคระบาดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ Call Center ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (War Room) จังหวัดอุดรธานี กรมปศุสัตว์ DLD 4.0 "แจ้งการเกิดโรคระบาด" เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที"น.สพ.พนธ์สมิทธิ์ กล่าว
นายธีระพงษ์ สมบัติหลาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหลายจังหวัดที่ผ่านมา เกษตรกรรายย่อยเกิดให้ความสนใจและตื่นตัวกับโรคนี้เป็นอย่างมาก ส่งผลดีทั้งในด้านการให้ความรู้เพื่อช่วยกันป้องกันโรค ASF และยังช่วยให้ทราบถึงข้อมูลสำคัญการเลี้ยง เช่น จำนวนตัว พิกัด ของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย เพื่อนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการป้องกันและเตรียมพร้อมในการควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที เพื่อประสิทธิผลในการป้องโรค ในการอบรมครั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้มีการมอบน้ำยาฆ่าเชื้อให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยทั้ง 20 อำเภอในเขตจังหวัดอุดรธานีพร้อมกันด้วย.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit