นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ประธานกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนามิติด้านวัฒนธรรม โดยการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมจึงมีความสำคัญต่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของอาเซียนควบคู่ไปพร้อมกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมวิถีชีวิตของผู้คนในประชาคมอาเซียนด้วย การที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยในหัวข้อประชาคมอาเซียนกับงานวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๑ และในครั้งที่ ๙ นี้ เน้นงานวิจัยในหัวข้อ "สร้างพื้นที่วัฒนธรรม มรดกร่วมอาเซียน" ถือเป็นการให้ความสำคัญในความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นการสานต่อนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน ตามแนวคิด "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" โดยไทยเป็นแกนหลักสนับสนุนให้เกิดสันติสุขและความเจริญยั่งยืนในภูมิภาคสืบไป
ด้านนายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า การประชุมวิชาการในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย เครือข่ายทางวัฒนธรรม ทั้งในส่วนราชการ ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ และผู้ที่สนใจงานวัฒนธรรม รวมกว่า ๓๐๐ คน โดยในภาคเช้า เป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง สร้างพื้นที่วัฒนธรรม มรดกร่วมอาเซียน โดย คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ ต่อด้วยการอภิปรายทางวัฒนธรรม ๒ เรื่อง คือ มรดกร่วมอาเซียน : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม รศ.ดร. ชัชชัย โกมารทัต ดร.สง่า ดามาพงษ์ ดร.สุรศักดิ์ จำนงสาร ดำเนินรายการโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. พิสิฐ เจริญวงศ์ และการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง "ทิศทางการวิจัยทางวัฒนธรรมและเสียงสะท้อนของนักวิจัย" โดยวิทยากรรับเชิญที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสาขาต่าง ๆ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข
และในภาคบ่ายเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ซึ่งได้มีการจัดกลุ่มนำเสนอและอภิปราย เป็น ๒ กลุ่ม ๒ หัวข้อ ได้แก หัวข้อ อัตลักษณ์ร่วมทางวัฒนธรรม ประกอบด้วยงานวิจัย ๔ เรื่อง ได้แก่ ๑.อัตลักษณ์แห่งชาติที่นำเสนอในพิพิธภัณฑ์ การศึกษาเปรียบเทียบห้าประเทศ สมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียน ๒.อัตลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของ "ชาวซอง-ชาวซัมแร" ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย-กัมพูชา ๓.การจัดการความรู้ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านเพื่อการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม กรณีศึกษาเมืองนาทรายทอง นครหลวงเวียงจันทน์ ๔.การธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมล้านนาของชาวไทยวน เมืองเมียวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
ส่วนในกลุ่มสอง มีการนำเสนอและอภิปรายในหัวข้อ พหุลักษณ์ทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย ๑.มรดกร่วมทางภาษาในพิธีกรรมการรักษาที่ส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวเขมรถิ่นไทยและเขมรในราชอาณาจักรกัมพูชา ๒.การศึกษาวิเคราะห์ดนตรีพิธีแซนการ์ในบานะที่เป็นมรดกร่วมระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ๓.ภาพลักษณ์และการสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทยท่ามกลางพหุวัฒนธรรมในรัฐปีนัง สหพันธรัฐมาเลเซีย
นอกจากจะมีการนำเสนอและอภิปรายงานวิจัย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม แล้ว บริเวณด้านหน้าหอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการและสาธิตโครงการวิจัยที่น่าสนใจ สามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ อาทิ -โครงการพัฒนากลยุทธ์ในการยกระดับสินค้าเชิงวัฒนธรรมให้เป็นแบรนด์ระดับโลก -การสร้างภาพลักษณ์ผ่านสื่อบันเทิงกับก้าวย่างสู่ประเทศไทย ๔.๐ : ศึกษากรณีซีรีย์โทรทัศน์เกาหลีใต้ -โครงการศึกษาสภาพและแนวทางในการจัดการทรัพยากรดนตรีศึกษาในสถานศึกษาของประเทศไทย : มิติการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม –โครงการนวัตกรรมแฟชั่นผ้าไทยสีธรรมชาติจากว่านยาอูเนะตามแนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์สู่สากล -การพัฒนาภาชนะเบญจรงค์ส่งเสริมรูปลักษณ์อาหารแนวคิดเอกลักษณ์ไทยเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานการผลิตในจังหวัดสมุทรสาคร -โครงการศึกษารวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาแห้งหอมผู้ไทยของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย -โครงการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ในการผลิตผ้าไหมบ้อมสีด้วยเมล็ดมะขามเพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ : กรณีศึกษาฝ้าขาวม้าบ้านทพกระบือ ต.สำโรง จ.สุรินทร์ -การพัฒนาศักยภาพงานหัตกรรมเครื่องเขินวัฒนธรรมล้านนาเพื่อเสริมสร้างมูลค่าสู่ตลาดผู้บริโภค เชื่อมโยงวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านศรีปันครัว ต.ท่าศาลา อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ -แผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบยั่งยืน : กรณีศึกษาลุ่มแม่น้ำสะแกกรังและปากน้ำประแส เป็นต้น
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในฐานะที่เป็นองค์กรแห่งความรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมเพื่อความภาคภูมิใจในความเป็นไทย จึงเห็นความสำคัญของการวิจัยทางวัฒนธรรมและได้จัดให้มีการประชุมทางวิชาการทางวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นับว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ทางด้านการวิจัยทางวัฒนธรรม ระหว่างบุคลากรทั้งในสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่สนใจทั่วไป เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน