'โป' แพนด้าหนุ่มที่ฝึกฝนกระบวนท่ากังฟูจนได้เป็นจอมยุทธ บอกว่า สัตว์ป่าหลายชนิดไม่ได้มีทักษะป้องกันตัวแบบเขา และกำลังโดนล่าเพียงเพื่อนำชิ้นส่วนต่างๆ เช่น งาช้าง นอแรด กระดูก หนังและเขี้ยวเสือโคร่ง เกล็ดและเนื้อตัวลิ่น ไปใช้ เพราะความต้องการที่ไม่จำเป็นของมนุษย์ พร้อมย้ำว่า เพื่อนๆ ของเขาต้องการความช่วยเหลือจากเรา และทุกคนสามารถช่วยสัตว์ป่าได้ง่ายๆ ด้วยการไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพราะหยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า
"เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับองค์การสวนสัตว์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิกฤติการล่าสัตว์ป่าที่เป็นปัญหาระดับ โลกแก่เยาวชน ครอบครัวและผู้เข้าชมสวนสัตว์หลายแสนคน เราเชื่อว่าความร่วมมือดังกล่าว จะสร้างนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ที่จะช่วยปกป้องสัตว์ป่า ผลักดันให้การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายหมดไปได้" นายปีเตอร์ ไนทส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์กรไวล์ดเอด กล่าว
อาญชากรรมต่อสัตว์ป่าและพืชป่าที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีมูลค่ารวมหลายพันล้านเหรียญ โดยมีแรงขับเคลื่อนจากความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มาจากชิ้นส่วนสัตว์ป่า ผลการวิจัยผู้บริโภคและใช้งาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในประเทศไทย ปี พ.ศ.2561 โดยโครงการยูเอสเอด ไวล์ดไลฟ เอเชีย ระบุว่า คนไทยจำนวน 2 เปอร์เซ็นต์ครอบครองหรือใช้ผลิตภัณฑ์งาช้าง และมีคนไทยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ที่ครอบครองหรือใช้ผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่ง แม้ตัวเลขดังกล่าวอาจจะไม่มาก แต่ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีนัยสำคัญที่ผลักดันตลาดในประเทศ ผลิตภัณฑ์งาช้างที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ เครื่องประดับ และอัญมณี ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากเสือที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด คือสินค้าประเภทเครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล และพระเครื่อง
ทุกปี มีช้างมากถึง 33,000ตัวถูกฆ่าเพื่อเอางา แม้แนวโน้มการฆ่าช้างแอฟริกันจะลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อปี พ.ศ. 2554 แต่จำนวนช้างที่ถูกฆ่ายังอยู่ในระดับสูง เมื่อดูภาพรวมทั้งทวีป และประชากรช้างแอฟริกา ยังคงมีแนวโน้มลดลงเมื่อดูจากจำนวนในปี พ.ศ.2559 ขณะที่ประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติลดลงจาก 100,000ตัว เหลือราว 3,800ตัว ในช่วง 100ปีที่ผ่านมาจากการล่าและถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ขณะนี้ชนิดพันธุ์ย่อยของเสือสูญพันธุ์ไปแล้ว 3ชนิด จากที่เคยมีทั้งหมด 9ชนิด แม้ว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองเสือในระดับนานาชาติ แต่ทุกปีมีเสือโคร่งในป่าถูกล่าราว150ตัว เพื่อตอบสนองความต้องการชิ้นส่วนของมัน
"สวนสัตว์ทั่วประเทศที่อยู่ภายใต้องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานสวนสัตว์สู่ระดับสากลอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ความสำคัญของการดำรงอยู่ของสัตว์ป่าต่อธรรมชาติ เราหวังว่าความร่วมมือกับองค์กรไวล์ดเอด และกังฟู แพนด้า จะกระตุ้นความสนใจ และเสริมสร้างความรู้ในเรื่องผลกระทบจากการลักลอบล่า และค้าสัตว์ป่าแก่เยาวชน และผู้เข้าชมสวนสัตว์หลายแสนคนตลอดเดือนนี้ พร้อมกับสร้างเกราะป้องกันให้เยาวชน คนรุ่นใหม่จากการเป็นผู้ซื้อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในอนาคต" นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์
พบกับโฆษณารณรงค์ชุดใหม่ โดย 'โป' กังฟู แพนด้า ได้ที่สวนสัตว์เหล่านี้:
1. สวนสัตว์เชียงใหม่
2. สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
3. สวนสัตว์ขอนแก่น
4. สวนสัตว์นครราชสีมา
5. สวนสัตว์สงขลา
6. สวนสัตว์อุบลราชธานี
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit