ความเป็นมาของการก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรในประเทศไทย สืบเนื่องมาจากกลุ่มชาวนาได้รวมตัวกันครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2498 จากนั้นรัฐบาลได้สนับสนุนให้จัดตั้งกลุ่มชาวนาขยายไปทั่วประเทศ ครอบคลุมอาชีพการเกษตรทุกสาขา และเพิ่มจำนวนขึ้นตามลำดับ จึงมีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 140 และฉบับที่ 141 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เปิดโอกาสให้เกษตรกรรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกร จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สามารถดำเนินธุรกิจต่างๆได้ และช่วยแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือกันในการประกอบอาชีพการเกษตร จึงถือได้ว่า วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรไทย ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรไทยได้ก่อตั้งมาแล้วครบรอบ 47 ปี กลุ่มเกษตรกรจำแนกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ กลุ่มทำนา ทำไร่ ทำสวน ผู้ทำประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้เลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันมีจำนวนกลุ่มเกษตรกร 4,829 กลุ่มทั่วประเทศ แบ่งเป็นกลุ่มทำนา2,275 กลุ่ม กลุ่มทำสวน 1,078 กลุ่ม กลุ่มเลี้ยงสัตว์ 751 กลุ่ม กลุ่มทำไร่ 614 กลุ่ม กลุ่มประมง 56 กลุ่ม และอื่นๆ 55 กลุ่มจำนวนเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรรวมทุกประเภทมีจำนวน 481,474 ราย ปริมาณธุรกิจมูลค่ารวม 6,360.79 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจรวบรวมผลผลิตการเกษตร มีปริมาณมากที่สุด ร้อยละ 42.07 รองลงมาเป็นการให้เงินกู้ ร้อยละ 31.07
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้รับมอบภารกิจการดูแลและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรจากกรมส่งเสริมการเกษตรเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2545 ซึ่งกรมฯได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมและพัฒนานิติบุคคลกลุ่มเกษตรกร ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับการส่งเสริมและพัฒนาเช่นเดียวกับสหกรณ์ คือ ส่งเสริมการรวมกลุ่มโดยหลักการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่งเสริมการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และพัฒนากลุ่มเกษตรกรประเภททำนา ทำไร่ ทำสวน ผู้ทำประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้เลี้ยวสัตว์ และกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ สู่กลุ่มเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ และในปีนี้มีกลุ่มเกษตรกรที่ได้คัดเลือกให้เป็นกลุ่มเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติและจะได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2562 ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาเทพนคร จ.กำแพงเพชร กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านนาปรังพัฒนาจ.สงขลา และกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์หนองขาม จ.ชัยภูมิ
ความก้าวหน้าของกลุ่มเกษตรกรในประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ร่วมกับคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย จัดงาน "เนื่องในโอกาสครบรอบ 47 ปี คล้ายวันก่อตั้งกลุ่มเกษตรกร" ขึ้น เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานและความเป็นมาของกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งให้ผู้นำกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางในการพัฒนากลุ่มเกษตรให้มีศักยภาพ มีความแข็งแรงมีภูมิคุ้มกัน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพให้เป็นระบบ มีความสุขและยั่งยืน กิจกรรมในงานประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ การอภิปรายหัวข้อ "วิกฤตชีวิตเกษตรทางออกของเกษตรกรไทย" และการเสวนา "การพัฒนากลุ่มเกษตรกรสู่ความเข้มแข็ง"
นายประยูร กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาและยกระดับกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากเกษตรกรเป็นกลุ่มบุคคลที่สำคัญในการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงพลเมืองทั้งโลก ภายใต้แนวคิดครัวไทย สู่ครัวโลก กรมฯจึงได้นำนโยบายของรัฐบาลมาใช้ในการพัฒนาเกษตรกร ทั้งในเรื่องเกษตรแปลงใหญ่ การตลาดนำการผลิต การลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางการแข่งขัน ให้กับเกษตรกรไทยในยุค4.0 สิ่งสำคัญคือขอกลุ่มเกษตรกร กลับไปดูแลสมาชิกและช่วยเหลือกันในเรื่องการประกอบอาชีพ และสำรวจความต้องการว่าสมาชิกยังต้องการความช่วยเหลือในด้านใด ทั้งเรื่องเงินทุน ปัจจัยการผลิต และช่องทางการตลาด ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร
ด้านนายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ กลุ่มเกษตรกรว่า กลุ่มเกษตรกรมีธุรกิจหลักคือการร่วมกันผลิตและรวมซื้อรวมขาย สมาชิกมีความใกล้ชิดกัน และมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ขณะที่คณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐกับเกษตรกร หรือองค์กรเกษตรกรกับเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีการสรุปปัญหาต่างๆ ของแต่ละระดับ แบ่งการบริหารงานโดยประสานกันทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันพัฒนาและยกระดับกลุ่มเกษตรกรให้มีความก้าวหน้าและส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรให้มีรายได้เพียงพอและสามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างมั่นคงต่อไป
HTML::image( HTML::image( HTML::image(