ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า "ปัจจุบันขยะพลาสติกในทะเล นับเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลอย่างมาก มีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่ได้รับผลกระทบจากขยะที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเฉพาะเต่าทะเล ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง อพวช. โดยพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา จึงได้ดำเนินการจัด งาน Natural History Forum ตอน "วิกฤตเต่าทะเล" ขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเต่าในกลุ่มต่าง ๆ ในทุกแง่มุม พร้อมบอกเล่าถึงวิกฤตปัญหาขยะทะเลที่ส่งผลต่อเต่าทะเล และเชิญชวนให้ผู้เข้าชมแสดงความรักความห่วงใยที่มีต่อเต่าทะเล และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้สังคมได้เห็นถึงปัญหาขยะทะเลมากยิ่งขึ้นต่อไป"
สำหรับ นิทรรศการ "วิกฤตเต่าทะเล" แบ่งออกเป็น 3 โซนด้วยกัน ประกอบไปด้วย โซนทำความรู้จักเต่า เป็นโซนที่บอกถึงความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเต่าทั้งหมด อาทิ ประวัติการกำเนิดเต่า ประเภทของเต่า และชนิดของเต่าทะเลที่พบในประเทศไทย โซนถัดไป คือ โซนวิกฤตเต่าทะเล หลังจากที่ผู้เข้าชมได้รู้แล้วว่าในทะเลประเทศไทยมีเต่าทั้งหมดกี่ชนิด ในโซนนี้ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้ถึงวิกฤตปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังส่งผลให้เต่าทะเลกำลังจะสูญพันธุ์ โดยจัดแสดงรูปแบบ 3 มิติ สามารถเห็นเต่าสตัฟฟ์ได้รอบทิศทาง (ยกเว้นเต่าหัวค้อนที่เป็นโมเดล) โซนสุดท้าย คือ โซนรัก (ษ์) เต่าทะเล ในโซนนี้ ผู้เข้าชมจะได้ทำกิจกรรมบอกรักเต่าทะเล เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกที่อยากจะช่วยเหลือเต่าทะเล โดยผู้เข้าชมจะได้เขียนข้อความถึงเต่าทะเล ว่าจะช่วยเหลือให้เต่าทะเลอยู่คู่กับทะเลไปอีกนานแสนนานได้อย่างไรและผูกติดไว้กับสายน้ำจำลองที่จำลองไว้ในโซน
ภายในงานฯ นอกจากนิทรรศการ "วิกฤตเต่าทะเล" แล้ว ผู้เข้าชมยังมีโอกาสได้เข้าร่วมฟังการเสวนา ในหัวข้อ "วิกฤตเต่าทะเล" เพื่อได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาขยะในทะเล โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ขันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน และคุณอเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดงหัวใจอนุรักษ์ ผู้ก่อตั้ง EEC Thailand (Environmental Education Centre Thailand) มาเป็นวิทยากรในครั้งนี้ อีกทั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้มอบเต่าออมสิน (เต่าสตัฟฟ์) ไว้ให้กับ อพวช. เพื่อเป็นการสะท้อนสภาพปัญหาการทิ้งขยะของมนุษย์อันส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล และเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ด้านธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อมต่อไป
สำหรับผู้สนใจเข้าชม นิทรรศการ "วิกฤตเต่าทะเล" สามารถเข้าชมได้ที่ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ทุกวันอังคาร -วันศุกร์ เวลา 09.30 – 16.00 น. และ วันเสาร์ - วันอาทิตย์ เวลา 09.30 – 17.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 0 2577 9999 ต่อ 2122, 2123 หรือ Facebook : NSMthailand, www.nsm.or.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit