นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาในวัยรุ่นว่า เป็นวัยที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ระบบต่างๆ ในร่างกายยังพัฒนาไม่สมบูรณ์และมีการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งร่างกายจิตใจ สังคม ทำให้ยากต่อการคาดเดาในอนาคต จากรายงานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยล่าสุดในปี 2561 ทั่วประเทศมีกลุ่มวัยรุ่นอายุ 11 -20 ปี 8 ล้านกว่าคน ส่วนใหญ่อยู่ในระบบการศึกษา อย่างไรก็ดีจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมขณะนี้ นับว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากมีสิ่งยั่วยุมากมาย ทั้งจากการโฆษณา และจากเน็ตไอดอลต่างๆ อาจทำให้วัยรุ่นเสี่ยงมีพฤติกรรมไปในทางที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย ที่สำคัญคือการใช้สารเสพติด เช่นการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ซึ่งมีผลเกิดการเสพติด ทำลายความสามารถของสมองโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความจำ เสียการเรียน และมีผลทำให้เกิดโรคทางจิตเวชเช่นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคจิตเภทได้ และอาจเป็นประตูไปสู่การใช้สารเสพติดอื่นๆ ตามมา
ทางด้านแพทย์หญิงสายสุดา สุพรรณทอง จิตแพทย์ประจำรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่า ผลการศึกษาของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2559 ในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา อายุ 13-17 ปี มีปัญหาติดเหล้าและบุหรี่รวม 3 แสนกว่าคน โดยติดบุหรี่ (Tobacco dependence)ร้อยละ 2.4 หรือประมาณ 93,000 คน จากกลุ่มวัยนี้ที่มีจำนวนเกือบ 4 ล้านคน และติดเหล้า (Alcohol dependence)ร้อยละ 6.4 หรือมีประมาณ 240,000 คน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2-4 เท่าตัว จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยติดสุราที่เข้าบำบัดรักษาอาการทางจิตที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯล่าสุดปีนี้ พบมีอายุน้อยที่สุดเพียง 20 ปีเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถรักษาให้สมองกลับมาเหมือนเดิมได้
แพทย์หญิงสายสุดา กล่าวต่อว่า โอกาสพฤติกรรมความเสี่ยงของวัยรุ่นแต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น การเลี้ยงดู สภาพครอบครัว พื้นฐานทางอารมณ์ แต่ที่สำคัญที่สุดคือเพื่อน เนื่องจากวัยรุ่นส่วนใหญ่จะผูกพันกับเพื่อนมาก จะเรียนรู้ทักษะทางสังคมรวมถึงการยอมรับค่านิยมต่างๆ แนวคิดการปฏิบัติมาจากเพื่อน ซึ่งในช่วงเปิดเทอมใหม่นี้ เป็นโอกาสที่วัยรุ่นจะได้พบทั้งเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่ในโรงเรียน อาจถูกชักชวนไปในทางที่ไม่เหมาะสมได้ และบางครั้งวัยรุ่นเองไม่ได้คิดอะไรให้รอบคอบ เพราะเกรงใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่กล้าปฏิเสธเพราะกลัวเพื่อนโกรธ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีความรู้และมีทักษะการปฏิเสธหากถูกเพื่อนชักชวนไปในทางที่ไม่ดี เพื่อใช้ในดำเนินชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัย เป็นผลดีต่อตนเอง สำหรับเทคนิคปฏิเสธเพื่อนให้ได้ผลและไม่เสียเพื่อนด้วยมีข้อแนะนำ 5 ประการดังนี้ 1.ให้ใช้การปฏิเสธอย่างจริงจัง ทั้งท่าทาง คำพูด และน้ำเสียง เพื่อแสดงความตั้งใจอย่างชัดเจน เนื่องจากการปฏิเสธเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ทุกคนควรเคารพและยอมรับ 2. ให้ใช้ความรู้สึกเป็นข้ออ้างประกอบเหตุผลด้วยเช่น ไม่สบาย, หมอสั่งห้าม จะทำให้ฝ่ายชักชวนโต้แย้งได้ยากขึ้น 3. ควรบอกปฏิเสธให้ชัดเจนเช่น ไปไม่ได้หรอก, ไม่ชอบ, ขอไม่ไปด้วย 4. การขอความเห็นชอบและแสดงอาการขอบคุณเมื่อผู้ชวนยอมรับการปฏิเสธเพื่อเป็นการรักษาน้ำใจของผู้ชวน เช่นพูดว่าคงไม่ว่านะ, คงเข้าใจนะ และ5. ให้ออกจากสถานการณ์นั้น โดยกรณีเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นที่ไม่น่าไว้วางใจหรืออาจเป็นอันตราย ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาน้ำใจแต่อย่างใด เพียงใช้การปฏิเสธอย่างสุภาพ แล้วออกไปจากสถานการณ์โดยเร็ว
แพทย์หญิงสายสุดากล่าวต่อไปอีกว่า หากปฏิเสธไปแล้ว แต่เพื่อนยังพูดเซ้าซี้ชักชวนหรือพูดสบประมาท ซึ่งอาจจะสร้างความสับสน ไขว้เขวได้ คำพูดที่มักใช้กันบ่อยมี 6 ประเภท ได้แก่ 1. พูดดูถูก เช่น กลัวใช่ไหม, ไม่กล้าจริงนี่นา 2. การโต้แย้งเช่นพูดว่าคนรุ่นใหม่เขาทำกันอย่างนี้ทุกคน ใครๆ ก็ทำกันทั้งนั้น 3. ใช้คำข่มขู่ เช่น ถ้าไม่ทำ เจ็บแน่ 4. การพยายามกลบเกลื่อนมองไม่เห็นปัญหา เช่นพ่อแม่ไม่ว่าหรอก, ไม่มีใครรู้หรอก 5. การอ้างเหตุผลเข้าข้าง เช่น เธอโตแล้วนะ, อย่าเป็นเด็กอยู่เลย และ6. การพยายามออกนอกเรื่อง เช่นพูดว่า พึ่งรู้ว่าเวลาเธอโมโหแล้วสวยจัง เป็นต้น ก็ไม่ควรหวั่นไหวหรืออย่าใจอ่อนกับคำพูดเหล่านั้น เพราะจะทำให้ขาดสมาธิได้ ขอให้ยืนกรานการปฏิเสธโดยให้เลือกใช้ 3 เทคนิคอย่างใดอย่างหนึ่งพร้อมบอกลาแล้วเดินจากไปทันที ดังนี้ 1. ปฏิเสธซ้ำโดยไม่ต้องใช้ข้ออ้าง 2. การต่อรองและเบนความสนใจ โดยชวนเพื่อนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทนเช่น พูดว่าเรากลับบ้านกันดีกว่า เดี๋ยวพ่อแม่จะเป็นห่วง หรือ3.การผัดผ่อนยืดเวลาออกไปเพื่อให้ผู้ชวนเปลี่ยนความตั้งใจ เช่นพูดว่า เอาไว้วันหลังดีกว่า, ตอนนี้ยังไม่ว่าง เทคนิคการปฏิเสธเพื่อนที่กล่าวมา วัยรุ่นสามารถใช้ในกรณีถูกชวนให้กระทำเรื่องอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อตัวเอง เช่น ชวนเล่มเกมพนัน มีเพศสัมพันธ์ ร่วมแก๊งค์รถซิ่งได้ด้วย แพทย์หญิงสายสุดากล่าว
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit