นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจจากภาคการผลิตที่มีประสิทธิภาพ (Efficiency – driven economy) แต่เมื่อพิจารณาในระยะยาว ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอาจไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้งค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจที่เติบโตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทย ผ่านกลไกการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีให้มีความสามารถทั้งด้านเทคโนโลยี การบริหารธุรกิจ การตลาด และการพัฒนาทักษะในการคิดค้นสินค้าหรือบริการใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจให้มีความแตกต่างเหนือคู่แข่งและมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ในการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมให้สามารถออกสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจับคู่และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมระหว่างผู้มีเทคโนโลยี (Technology Provider) อาทิ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย นักวิจัย ผู้ถือครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และผู้ต้องการใช้เทคโนโลยี (Technology Seeker) อาทิ ผู้ประกอบการเอกชน บุคคลทั่วไป โดยส่งเสริมโอกาสและช่องทางให้แก่ Technology Provider ในการนำเสนอเทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ Technology seeker ตลอดจนช่วยอำนวยความสะดวกให้กับ Technology seeker ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ผลงานวิจัย ทรัพย์สินทางปัญญา และบริการจาก Technology Provider ภายในประเทศอย่างเต็มที่ อันจะนำไปสู่การยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและประเทศต่อไป ดังนั้น กสอ. จึงได้ร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้ชื่อ "เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network: RUN)" โดยจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ขยายผลการศึกษาวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถรองรับกระบวนการทำงาน หรือ กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาและเชื่อมโยงของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ และส่งเสริม สนับสนุนให้มีการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
ขณะเดียวกัน กสอ. ยังจัดให้มีกิจกรรมการนำเสนอผลงานวิจัย (Inno Matching) ใน 6 สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย สาขาเกษตรและอาหารแปรรูป สาขาการแพทย์และสุขภาพ สาขาพลังงานและสิ่งแวดล้อม สาขาซอฟแวร์และดิจิตอล สาขายานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาเทคโนโลยีโลจิสติกส์ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งส่งเสริมช่องทางการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนช่องทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัย และผู้ประกอบการ และเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาแนวความคิด ต่อยอดนวัตกรรม และอัพเดตเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เกิดผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
"ผมเชื่อว่า การนำเสนอผลงานวิจัยจะทำให้เกิดการจับคู่งานวิจัยระหว่างผู้ต้องการใช้เทคโนโลยี และผู้มีเทคโนโลยีจนนำไปสู่การการเจรจา การตกลงอนุญาตให้เป็นเจ้าของงานวิจัย การลงทุนร่วมกัน ตลอดจนการซื้อขายไอเดีย เทคโนโลยี หรือ สิทธิบัตร นอกจากนี้ การทำ MOU ร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัยในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะส่งผลดีต่อระบบอุตสาหกรรมไทยในอนาคต" นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit