โรคอ้วน ภาวะเสี่ยงที่พบได้ทั่วไปในสังคม ปัจจุบันเด็กไทยเกิดภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนแล้ว ร้อยละ 13.1 ซึ่งนายสง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัยและอุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย บอกว่า จากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าปัญหาทุพโภชนาการและปัญหาโรคอ้วนในเด็กวัยเรียนยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากเด็กที่เป็นโรคอ้วนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะมีโอกาสเป็นโรคอ้วน 1 ใน 4 และหากอ้วนจนถึงวัยรุ่นโอกาสเสี่ยงสูงถึง 3 ใน 4 ผลเสียจากการเกิดโรคอ้วน นำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(Non-communicable diseases, NCDs) และถ้าหากเด็กได้รับอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จะทำให้การเจริญเติบโตไม่ดีและผอม หากขาดอาหารเรื้อรังเป็นเวลานาน จะทำให้เด็กเตี้ยส่งผลต่อการพัฒนาสมอง และระดับสติปัญญาต่ำกว่าเด็กที่มีส่วนสูงตามเกณฑ์ปกติ ซึ่งจากการบริโภคอาหารในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีพบว่า ชอบกินอาหารที่มีแคลลอรี่สูง หวานจัด มันจัด เค็มจัด กินผักผลไม้น้อย โดยร้อยละ 69.9 กินขนม/เครื่องดื่ม/ลูกอมระหว่างมื้อ ร้อยละ 38.9 ดื่มน้ำหวานมากกว่า 3 วัน/สัปดาห์ร้อยละ 26.6 ดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 3 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 76.9 ของเด็ก 12 ปี กินขนมกรุบกรอบ อาหารทอด ไก่ทอด ไส้กรอก ทำให้มีไขมันพลังงานสูง น้ำอัดลม กินขนมขณะนั่งนอนดูโทรทัศน์ นั่งเล่นเกม มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ไม่ได้ออกกำลังกาย มีกิจกรรมทางกายลดลง กินไอศกรีมและเบเกอรี่ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนที่มีสาเหตุมาจาก 1.อ้วน เหนื่อยง่าย อุ้ยอ้าย 2.การเรียนรู้ลดลง 3.เบาหวาน 4.ความดันโลหิตสูง 5.หายใจลำบาก หยุดหายใจขณะหลับ 6.ข้ออักเสบ ปวดเข่า 7.ไข มันในเลือดสูง 8.โรคหัวใจ 9.โรคหลอดเลือดสมอง 10.มะเร็ง โดยโรคอ้วนนี้เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในปี 2561 ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้บรรจุเป็นวาระแห่งโลกที่ต้องการแก้ไขเร่งด่วน
จากสาเหตุดังกล่าวนายสง่า ดามาพงษ์ บอกต่อว่า สาเหตุที่ผ่านมาเป็นเพราะพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครูและคนรอบข้างนิ่งนอนใจเกินไป รวมทั้งประเทศยังขาดมาตรการที่ดีพอในการควบคุม หรือทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง โครงการปิ๊งส์ โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับสำนักโภชนาการสมวัย สำนักงานบริหารแผนงานอาหารและโภชนาการ โครงการเด็กไทยแก้มใส เครือข่ายคนไทยไร้พุง ชมรมครูการงานอาชีพและเทคโนโลยีกรุงเทพมหานคร จึงร่วมมือกันจัด โครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้) ปีที่ 3 ขึ้น โดยในปีนี้จะเน้นสร้างสรรค์สื่อเพื่อการรณรงค์ลดน้ำหนักในเด็กมา ซึ่งจากปีแรกที่ทดลองทำจากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 20 โรงเรียน ตามมาในปีที่ 2 ที่ขยายผลไปสู่โรงเรียนทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมลฑลซึ่งเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร(กทม.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จำนวน 20 โรงเรียน และล่าสุดในปีที่3 นี้ได้เปิดกว้างขยายผลไปสู่โรงเรียนต้นแบบรวม 22 โรงเรียน 19 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีการเน้นให้ความสำคัญกับครูผู้สอน เด็กนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครองและชุมชน ในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมขึ้น
โดยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) บอกว่า ภาพรวมทั่วไปของเด็กทั่วประเทศ เด็กอ้วนมีจำนวนเพิ่มขึ้น แม้จำนวนจะไม่มากก็จริงแต่ตัวเลขก็เพิ่มขึ้น แต่ในจำนวนเด็กที่ สสส. และภาคีเครือข่ายเข้าไปดูแล จัดการ รณรงค์ จำนวนเด็กอ้วนมีจำนวนลดลง ซึ่งจากผลการดำเนินงานในโครงการ "อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)" ปี 3 ที่ผ่านมา พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของนักเรียนจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยหลังดำเนินโครงการฯ คณะกรรมการพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของนักเรียนโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน(สมส่วน) เพิ่มขึ้น ท้วมหรืออ้วนสูงลดลงเล็กน้อย ซึ่งโดยภาพรวมการดำเนินงานเป็นที่น่าพึงพอใจของทุกฝ่าย สื่อสร้างสรรค์ที่ใช้ในการรณรงค์ที่แต่ละโรงเรียนทำขึ้นนั้น หลายโรงเรียนทำได้ดี เพราะได้สร้างการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย สามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ช่วยกระตุ้นหรือจูงใจให้เด็กนำไปใช้ บอกต่อไปยังครอบครัว ชุมชน และสังคมรอบข้างได้
ซึ่งนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) บอกว่า จากการทำงานหนักมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องของ 22 โรงเรียนต้นแบบในโครงการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการรณรงค์ลดน้ำหนักในเด็กระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ภายใต้ชื่อโครงการ "อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน" (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้) ปีที่ 3 นี้ แต่ละโรงเรียนได้สื่อนวัตกรรม และกิจกรรมสร้างสรรค์ออกมาอย่างน่าสนใจ และมีความหลากหลาย เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานทางโครงการได้มีการมอบรางวัลให้กับสุดยอดโรงเรียนต้นแบบที่สามารถสร้างสรรค์สื่อนวัตกรรม และกิจกรรมสร้างสรรค์ออกมาได้โดดเด่นที่สุดเพื่อรับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี รางวัลสูงสุดของโครงการนี้ไปครอง ซึ่งผลงานนั้นจะต้องเป็นผลงานที่สามารถทำได้ตามเกณฑ์ของโครงการอย่าง 1.มีความต่อเนื่องของแผนจากเทอมแรก (ที่ทำให้เด็กเกิดความตระหนัก) 2.การขยายเครือข่ายในการทำงาน 3.การสร้างผู้นำเด็ก 4.ภาวะโภชนาการและภูมิปัญญาท้องถิ่น 5.กิจกรรมทางกายที่สร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อจากภูมิปัญญาท้องถิ่น 6.การรู้เท่าทันสื่อ และ 7.การบูรณาการกับวิชาต่างๆ ในโรงเรียน ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบที่ยอดเยี่ยมในระดับประเทศ นอกจากนั้นยังมีรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับโรงเรียนที่มีผลงานยอดเยี่ยม ภายใต้สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, โล่ประกาศเกียรติคุณให้กับโรงเรียนที่มีผลงานยอดเยี่ยม ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับโรงเรียนที่มีผลงานยอดเยี่ยม ภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานครโรงเรียนในสังกัดที่เป็นระดับภูมิภาคต่างๆ ด้วย เพื่อเห็นมิติของนวัตกรรมโรงเรียนต้นแบบ ในทุกรูปแบบทั่วประเทศ
โดยในปีนี้ นายดนัย หวังบุญชัย บอกว่า โรงเรียนบ้านขุนประเทศ สามารถคว้าสุดยอดโรงเรียนต้นแบบรับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี รางวัลสูงสุดของโครงการนี้ พร้อมกับรับรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณและประกาศนียบัตร รางวัลยอดเยี่ยมภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานคร ไปครองร่วมด้วย ส่วนโรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน (บ้านสวนตาล) จังหวัดน่าน ได้เป็นโรงเรียนยอดเยี่ยม ภายใต้สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, โรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนที่มีผลงานยอดเยี่ยม รับโล่ประกาศเกียรติคุณและประกาศนียบัตร ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ไปครอง นอกจากนี้ยังมีรางวัลโรงเรียนสื่อสร้างสรรค์ดาวรุ่ง ซึ่งโรงเรียนวัดสวนส้ม (สุขประชานุกูล) จังหวัดสมุทรปราการ ,โรงเรียนเทศบาลวัดหนองผา จังหวัดอุตรดิตถ์ และโรงเรียนบ้านลำทับ จังหวัดกระบี่ เป็น 3 โรงเรียนที่ได้รางวัลนี้ไป
ซึ่งนายกันตพัฒน์ มาฑา ครูผู้ดำเนินงานและกิจกรรมโรงเรียนบ้านขุนประเทศ บอกว่า โครงการในปีนี้ใช้ชื่อว่า Bankhun Healthy Land : Game of Strength เป็นโครงการที่ทางโรงเรียนได้สร้างนวัตกรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาเรื่องภาวะโภชนาการ เพราะเราเชื่อว่าถ้าเด็กมีภาวะโภชนาการที่ดี จะทำให้เด็กมาโรงเรียนทุกวัน ตั้งใจเรียน และมีสุขภาพดีด้วย โดยเน้นให้ความรู้ในด้านโภชนาการ และการออกกำลังกายให้กับเด็กในโรงเรียน และผู้ปกครองไปพร้อมๆ กัน ซึ่งสิ่งที่จะได้หลักๆ ก็คือทั้งเด็กและผู้ปกครองรู้จักและเข้าใจหลัก 3 อ. มีอาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย วิธีการและกระบวนการนั้นทางโรงเรียนมีการบูรณาการเข้ากับสูตรการเรียนการสอนในทุกวัน ทำให้ทุกคนในโรงเรียนเห็นความสำคัญ นี่จึงเป็นที่มีที่ทำให้เด็กๆ มีสุขภาพที่ดี หันมาออกกำลังกายและมีการส่งชุดข้อมูลความรู้ นวัตกรรม และกิจกรรมสร้างสรรค์ไปยังโรงเรียนในเครือข่ายร่วมด้วย
สำหรับเป้าหมายต่อไป นายดนัย หวังบุญชัย บอกต่อว่า เราจะผลักดัน สนับสนุน และขยายผลต่อยอดเพื่อให้นวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ของโรงเรียนต้นแบบเหล่านี้สามารถพัฒนาเข้าไปในหลักสูตรของการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ และหนุนเสริมหลักสูตรเพื่อทำให้เป้าหมายที่เป็นเด็ก เยาวชน ผู้ปกครองและครู สามารถนำนวัตกรรมนี้ไปใช้เพื่อลดปัญหาโรคอ้วน และน้ำหนักเกินในเด็ก รวมทั้งการเพิ่มผัก ผลไม้ และออกกำลังกายในเด็กทั้งในและนอกโรงเรียนเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้เพื่อการปรับเปลี่ยนการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ก่อเกิดให้เป็นนโยบายของโรงเรียนและการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองที่อยู่ทางบ้านให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในปีที่ที่ 4 นั้นเราจะขยายผลสื่อสร้างสรรค์ นวัตกรรมของเด็กและโรงเรียนต้นแบบเหล่านี้ออกไปให้เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น โดยเน้นโรงเรียนภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานครจำนวนกว่า 437 โรงเรียน ซึ่งจะนำเอานวัตกรรมและหลักสูตรในเรื่องเหล่านี้นำไปขยายผลต่อมากขึ้นอย่างแน่นอน โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามการทำงาน ความเคลื่อนไหวและกิจกรรมที่น่าสนใจของโครงการได้อย่างต่อเนื่องที่ www.artculture4health.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit