นางสาวปนัสยา ทองจินดาวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเจมส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า "จากความมุ่งมั่นและตั้งใจของบริษัทฯ ในการสืบสานงานศิลป์ไทย จนเกิดเป็นโครงการสืบสานงานเงินในปี 2561 ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการและช่างฝีมือเครื่องเงินจากทั่วประเทศ เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการสืบทอดงานศิลปะไทย รวมถึงได้ช่วยขยายโอกาสด้านการพัฒนาสินค้าของผู้ประกอบการให้เป็นที่ต้องการของชาวต่างประเทศ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนจนถึงระดับสากลอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจไทยแบบ Local to Global"
นายฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด สยามเจมส์ กรุ๊ป กล่าวว่า "กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อจัดแสดงผลงานของโครงการสืบสานงานเงินทั้ง 12 คอลเลคชั่น สะท้อนถึงอัตลักษณ์เครื่องเงินในวิถีพื้นเมืองแต่ละภาคได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น งานดุนลายภาคเหนือ การถักลายแบบศิลปะสุโขทัย งานตะเกาภาคอีสาน งานเครื่องถมภาคใต้ ซึ่งโชว์ถึงศักยภาพของผู้ประกอบและช่างฝีมือในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ อาทิ งานรมดำ การลงยา การใช้พลอย และคริสตัล มาผสมผสานกับเครื่องเงิน พร้อมใส่แนวคิดการออกแบบบ่งบอกความเป็นไทย จนได้ชิ้นงานที่สวยงามร่วมสมัย และสามารถจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ โดยทั้ง 12 คอลเลคชั่น แบ่งออกเป็น เครื่องประดับ 8 คอลเลคชั่น และสินค้าไลฟ์สไตล์ 4 คอลเลคชั่น ได้แก่ ชุดอุปกรณ์โต๊ะอาหาร กระดิ่งประดับบ้าน กระเป๋า และกล่องเก็บเครื่องประดับ"
ขณะที่ นางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดงานว่า "ขอขอบคุณและชื่นชมกลุ่มบริษัท สยามเจมส์ กรุ๊ป ที่ส่งเสริมผู้ประกอบการและช่างฝีมือเครื่องเงินไทย พร้อมขยายโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อถ่ายทอดอัตลักษณ์เครื่องเงินไทยในวิถีต่างๆ ผสมผสานการออกแบบที่สอดรับกับความนิยมผู้บริโภค และช่วยผลักดันธุรกิจเครื่องเงินไทยให้เติบโตได้ในเวทีระดับประเทศและระดับโลกอย่างยั่งยืน ตามแนวนโยบาย Local to Global เนื่องจากประเทศไทย เครื่องประดับเงินถือเป็นกลุ่มสินค้าที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ ปีละประมาณ 60,000 ล้านบาท คิดเป็น 15% ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด โดยมีตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และจีน ซึ่งอัญมณีและเครื่องประดับนับเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 ของไทย ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้มากและมีเป้าหมายส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก"
ภายในงานจัดแสดงผลงานทั้ง 12 คอลเลคชั่น ด้วยการเดินแฟชั่นโชว์จากบรรดานางแบบและนายแบบ ที่มาร่วมพรีเซ้นต์ความงดงามเครื่องเงินไทยในอัตลักษณ์วิถีพื้นเมืองจากผู้ประกอบการทั้ง 12 ราย พร้อมด้วย 2 สาวงามจากเวทีมิสไทยแลนด์เวิลด์ 2018 ได้แก่ แพรว - แพรววนิต เรืองทอง รองอันดับ 1 และ เลน่า - เฮเลน่า บุช รองอันดับ 2 ที่มาร่วมเดินแบบผลงานจากสยามเจมส์ กรุ๊ป นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่" ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อการค้ากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ ม.ล.ภาสกร อาภากร นักวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนานักออกแบบเพื่อการค้า กระทรวงพาณิชย์ เยี่ยมชมผลงาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิ นางสาวอรอุมา วิชัยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้แนวทางในการพัฒนาผลงาน โดยมีแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนเข้าร่วมชมงานในครั้งนี้ จำนวนมาก
"สยามเจมส์ กรุ๊ป หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยต่อยอดและพัฒนาสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการได้อย่างแท้จริง พร้อมสนับสนุนให้คนไทยเกิดความตระหนักถึงคุณค่าของเครื่องเงิน ที่เป็นงานศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยที่ควรค่าแก่การสืบทอดนี้ให้ยังคงอยู่ยันรุ่นลูก และรุ่นหลาน" นายฐวัฒน์ กล่าวในตอนท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit