สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า มูลนิธิเอสซีจีส่งเสริมการเรียนอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 โดยมอบทุนการศึกษาภายใต้โครงการ "อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ" จนปัจจุบันเรามอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนไปแล้วกว่า 8 หมื่นทุน ขณะเดียวกันก็เล็งเห็นว่าเด็กจะดีได้ต้องมาจากครู ผู้เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สอง เป็นผู้แบกรับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ จึงได้จัดทำโครงการ "ครูเราเจ๋ง เก่งอยากอวด" ขึ้น เพื่อให้น้องๆ ร่วมส่งเรื่องราวของครูในดวงใจ ครูที่ปั้นเขา ที่สอนเขา ให้กลายเป็นคนเก่งและดี เพราะเราเชื่อว่าครูคนหนึ่ง จะสามารถสร้างเด็กที่มีพลังในการพัฒนาประเทศชาติได้อีกมหาศาล
"คุณครูที่ได้รับการโหวตสูงสุด 10 ท่าน จะได้เข้าร่วมทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการอบรมเชิงปฎิบัติการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งมูลนิธิเอสซีจีได้เตรียมกิจกรรมไว้มากมาย เพื่อเสริมสร้างพลังใจให้กับครูอาชีวะที่ได้รับการคัดเลือกจากน้องๆ อาชีวะ" กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าว
ด้านคุณครูที่ร่วมกิจกรรมอย่าง ครูรุณ - วิรุณ ใส่แว่น ครูสาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง จากวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ ได้กล่าวถึงการเข้าร่วมกิจกรรมอบรมในครั้งนี้ว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก การมาพูดคุยกันในครั้งนี้ทำให้ได้ความคิดใหม่ ๆ ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้ความรู้ที่สามารถนำกลับไปใช้ในการพัฒนาเด็ก ซึ่งคิดว่าการสอนคนให้เป็นคนได้นั้น อย่างแรกเราต้องเชื่อมั่น เชื่อว่าพวกเขาทำได้และพัฒนาได้ ให้ความรักความศรัทธา และให้โอกาสพวกเขา ซึ่งส่วนตัวเชื่อเสมอว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้ แต่อาจจะต้องใช้วิธีการและระยะเวลาที่แตกต่างกัน
"ผมสอนเด็กๆเสมอว่า ให้พวกเขารู้จักการทำอะไรที่หนักก่อน เพราะเขาจะได้สบายภายหลัง อย่างเวลาเรียนผมก็มักจะบอกเสมอว่า ตอนนี้ลูกหนักแค่ตั้งใจเรียนหนังสือ แต่ต่อไปลูกจะสบาย ครูเต็มร้อยลูกก็เต็มร้อย ครูเชื่อว่าลูกจะประสบความสำเร็จได้" ครูวิรุณ กล่าว
ขณะที่ครูแคท แคทรีริน เอี่ยมศิริ ครูสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ เล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจมาเป็นครูอาชีวะว่า เราโตมาจากรั้วอาชีวะ เรียนปวช.สาขาคหกรรมด้วยความบังเอิญ เพราะโรงเรียนอาชีวะอยู่ใกล้บ้าน ทำให้ตอนนั้นยังไม่กล้าฝันว่าจะทำอาชีพอะไร เพราะเราก็ยัง ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง คิดแค่ว่าเรียนจบอยากเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้นมีโครงการของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เราสามารถยื่นเข้าเรียนได้จึงตัดสินใจเรียน เมื่อไปเรียนก็เริ่มซึมซับความเป็นครูสั่งสมจิตวิญญาณการเป็นครูมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นได้มาฝึกสอนจึงเลือกวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ทันทีเพราะถือว่าเป็นบ้านเกิดของเราเอง ช่วงฝึกสอนรู้สึกสนุก เพราะด้วยวัยที่ใกล้เคียงกันกับเด็ก จนทำให้เราชอบและรักในการเป็นครูอาชีวะไปเลย"ความมุ่งหวังของการเป็นครู คืออยากเป็นครูสมัยใหม่ที่ใช้รูปแบบการสอนที่ทันสมัย เพราะเด็กปัจจุบันความคิด การใช้ชีวิต ต่างจากยุคสมัยก่อน เราจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้เข้ากับเด็ก ทุกวันนี้ไม่เคย ตั้งมาตรฐานว่าเด็กทุกคนต้องเป็นแบบเดียวกัน เพราะทุกคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน แต่เราจะดึงศักยภาพของ แต่ละออกมามากกว่า และแค่เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นในวิชาของเรา แค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว" ครูแคท กล่าว
ปิดท้ายที่ครูกาญจน์ - กาญจน์ เหลืองดอกไม้ ครูสาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ จากวิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนไม่ได้คาดหวังว่าจะมาเป็นครู แต่หลังจากเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้เรียนรู้การเป็นครู ได้มีโอกาสไปฝึกสอนที่วิทยาลัยเดิม และกลับมาสอนรุ่นน้องของเราเอง แต่การมาเป็นครูอาชีวะก็ไม่ได้สนุกเสมอไป เพราะเราต้องเจอกับปัญหาหลากหลายรูปแบบ บางคนเขาไม่เข้าใจ ไม่เห็นความสำคัญ ไม่สนับสนุนและไม่เห็นความตั้งใจของเรา ว่าสิ่งที่เราทำเพียงเพื่อต้องการพัฒนาคนพัฒนาพื้นที่ ไม่ได้ต้องการหรือคาดหวังเงินทอง บางครั้งก็ท้อใจ แต่ก็มีแรงฮึดขึ้นได้เพราะลูกศิษย์ที่รักและสนับสนุนเรา"ทุกวันนี้เห็นเด็กที่เราสร้างขึ้นมา สอนขึ้นมา มีวิชาติดตัวจนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ มันกลับเป็นสิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจในการเป็นครูอาชีวะมากขึ้น หลายคนมักบอกผมว่า ทำไมไม่ไปทำงานที่อื่นที่เงินเยอะกว่านี้ ซึ่งผม มักจะบอกพวกเขาไปว่า ผมมีความสุขแล้วที่ได้สอนศิษย์และเห็นเขาเติบโตหาเลี้ยงตัวเองได้ ผมตั้งใจจะเป็นครูไปจนเกษียณ และจะพาเด็กเหล่านั้นไปสู่ความสำเร็จให้ได้" ครูกาญจน์ กล่าว
ทุกความคิด ทุกการกระทำของเหล่าตัวแทน "ครูอาชีวะ" เต็มไปด้วยแรงศรัทธา ความรัก และความเชื่อมั่นในลูกศิษย์ จนเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบแม่พิมพ์คุณภาพที่อยู่เบื้องหลังของความสำเร็จของเหล่าฝีมือชนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นบุคคลที่ควรค่าอย่างยิ่งแก่การสนับสนุน และพัฒนาศักยภาพต่อไป…อนาคตที่มองหา เริ่มจากครูที่มองเห็น
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit