นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่า
การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิด
การประชุมวิชาการนานาชาติด้านระบาดวิทยาทาง
สัตวแพทย์และ
เศรษฐศาสตร์ปศุสัตว์ (International Symposium of Veterinary Epidemiology and Economics) ครั้งที่ 15 ณ
โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ ว่า
สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์และโรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ และร่วมกันอภิปรายถึงปัญหาผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากปัญหาโรคระบาดสัตว์ เนื่องจากปัจจุบันโรคต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะโรคระบาดสัตว์ เช่น ไข้หวัดนก โรคพิษสุนัขบ้า และอหิวาห์สุกรแอฟริกา โรคปากและเท้าเปื่อย รวมถึงปัญหาเชื้อดื้อยา ส่งผลกระทบต่อทั้งคนและสัตว์อย่างมาก จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข จะต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคระบาดดังกล่าว ซึ่งการเสริมสร้างความเข้มแข็ง และการพัฒนาความรู้ความสามารถของสัตวแพทย์ไทยในด้านระบาดวิทยา และด้านเทคนิคด้านการวินิจฉัยโรคทางสัตวแพทย์ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การป้องกันและควบคุมโรคประสบความสำเร็จ
"การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้นำเสนอผลงานด้านการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์เผยแพร่ในเวทีระดับโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยและเกษตรกร ทั้งนี้ การจัดประชุมด้านระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์และเศรษฐศาสตร์ปศุสัตว์ หรือ ISVEE ดังกล่าว จะจัดขึ้นเป็นประจำทุก 3 ปี โดยมีการลงคะแนนเสียงโดยสมาชิกเพื่อหมุนเวียนการเป็นประเทศเจ้าภาพ ซึ่งการที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในภูมิภาคเอเชียในรอบ 25 ปี โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คณะกรรมาธิการด้านปศุสัตว์ (APHCA) องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) และสถาบันเพื่อการพัฒนาวิจัยปศุสัตว์ (ILRI) ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมประชุมหารือแนวทางการพัฒนาปศุสัตว์และการควบคุมโรคระบาดสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร พัฒนามาตรการป้องกันและควบคุมโรคใหม่ ๆ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของนักวิจัยและสัตวแพทย์จากทั่วโลกอีกด้วย" นายลักษณ์ กล่าว