ยูเนสโก ร่วมกับ กระทรวงวิทย์-สวทช. และเอไอที จัดงานวันวิทยาศาสตร์โลกเพื่อสันติภาพและการพัฒนา 2561 ชูประเด็นแนวทางจัดการขยะพลาสติก เชื่อมโยงกับสังคม

12 Nov 2018
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) จัดงาน World Science Day for Peace and Development 2018 หรืองานวันวิทยาศาสตร์โลกเพื่อสันติภาพและการพัฒนา ประจำปี 2561 ซึ่งเป็นงานที่ยูเนสโกจัดขึ้นประจำทุกปี เพื่อให้เห็นถึงการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ของสังคม สร้างความตระหนักแก่สาธารณชนถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ และลดช่องว่างระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคม โดยปีนี้ชูประเด็นเรื่องปัญหาขยะพลาสติก (Plastic Waste) ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความท้าทายต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกเป็นอย่างมาก โดย สวทช. นำกิจกรรมจัดการขยะพลาสติกเพื่อเรียนรู้วิธีลด (reduce) ใช้ซ้ำ (reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) นำเสนอแก่ผู้ร่วมงานทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และเอกชนกว่า 90 คน พร้อมรับฟังบรรยายโดยวิทยากรประเทศจีน เยอรมนี อินเดีย และรวันดา ในเรื่องปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และแนวทางจัดการขยะพลาสติกที่ประสบความสำเร็จในเยอรมนีและรวันดา โดยมีดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมด้วย Mr. Shigeru Aoyagi ผู้อำนวยการยูเนสโกกรุงเทพ และ Dr. Eden Y Woon อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เปิดงาน
ยูเนสโก ร่วมกับ กระทรวงวิทย์-สวทช. และเอไอที จัดงานวันวิทยาศาสตร์โลกเพื่อสันติภาพและการพัฒนา 2561 ชูประเด็นแนวทางจัดการขยะพลาสติก เชื่อมโยงกับสังคม

ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาที่มีความท้าทายต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกเป็นอย่างมากและรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนับมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว รวมถึงต้องร่วมมือกันในทุกระดับทั้งในส่วนองค์กรระดับประเทศ ระดับโลก หรือระดับปัจเจกบุคคล เพื่อพัฒนานโยบายและแนวทางจัดการขยะพลาสติกให้ดีขึ้น ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศในการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เช่น การประเมินวัฏจักรชีวิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ การพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและผลิตภัณฑ์ชีวภาพ การจัดซื้อจัดจ้างสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ นักวิชาการ และเอกชนเป็นอย่างดี โดยงานวันนี้จะมีสวนช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการทำงานร่วมกันในระดับนานาชาติที่จะส่งผลดีต่อสังคมในแง่เศรษฐกิจสีเขียว สภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และการเติบโตอย่างยั่งยืน"

Mr. Shigeru Aoyagi ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า วันวิทยาศาสตร์โลกเพื่อสันติภาพและการพัฒนา เป็นงานที่จัดขึ้นทุกปีเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน โดยองค์การยูเนสโกกรุงเทพฯ จัดงานวันนี้ขึ้นด้วยความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) รูปแบบงานวันนี้คือ "วิทยาศาสตร์-สิทธิมนุษยชน (Science-a human right)" โดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประกาศโดยสมัชชาแห่งสหประชาชาติในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 ในมาตรา 27 ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ระบุว่า : (1) ทุกคนมีสิทธิ ... เพื่อมีส่วนร่วมในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และผลประโยชน์ของตน ซึ่งยูเนสโกจัดงานดังกล่าวเพื่อสนับสนุนให้ทุกคนใช้สิทธิมนุษยชนที่จะมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ โดยงานวันนี้ มีวิทยากรจากประเทศจีนเยอรมนีอินเดียและรวันดานำเสนอผลงาน 4 เรื่องครอบคลุมประเด็นปัญหามลพิษทางพลาสติกรวมทั้งแนวทางแก้ไขที่อาจเกิดขึ้น มีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย นักศึกษา เอกอัครราชทูต ผู้แทนจากอุตสาหกรรม สหประชาชาติ หน่วยงานภาครัฐของไทย และสถาบันการศึกษา ภายหลังการบรรยายเป็นการนำเสนอผลงานโปสเตอร์ โดยยูเนสโกจะใช้วันนี้เป็นโอกาสในการริเริ่มเกี่ยวกับโครงการพลาสติกและจะทดสอบแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ด้าน นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ สวทช. เปิดเผยว่า สวทช. กระทรวงวิทย์ฯ ให้ความร่วมมือกับยูเนสโก ในการนำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นการจัดการขยะพลาสติก จำนวน 3 เรื่องเพื่อเรียนรู้วิธีการลด (reduce) ใช้ซ้ำ (reuse) และนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ได้แก่ กิจกรรมลดการใช้พลาสติกโดยไม่สร้างผลิตภัณฑ์พลาสติก กิจกรรมใช้ขวดพลาสติกซ้ำโดยนำของเก่าที่จะนำทิ้งมาสร้างประโยชน์ใหม่ๆ และกิจกรรมรีไซเคิลพลาสติกโดยเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เก่าเป็นของใหม่เพื่อให้สามารถขายต่อได้ โดยกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยสร้างความตระหนักถึงอันตรายของโลกในการใช้พลาสติกที่มากเกินไปและเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการและทางเลือกที่เป็นไปได้ ซึ่งหากปฏิบัติตามอย่างมีนัยสำคัญจะช่วยลดการบริโภคลงได้ ประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1: ลดการใช้พลาสติกโดยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีรูปแบบกิจกรรมที่ชี้ให้เห็นถึงการกลับคืนสู่ธรรมชาติและใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศไทย เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารจากใบตองกล้วย หลอดจากลำต้นดอกบัว ภาชนะบรรจุน้ำจากไม้ไผ่ และการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติซึ่งง่ายต่อการย่อยสลาย เช่น นมและแป้งในการผลิตพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น กิจกรรมที่ 2 นำขวดพลาสติกมาใช้ซ้ำ โดยได้แนวคิดและแรงบันดาลใจจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่มีขยะกระติกน้ำขวดพลาสติกลอยกระจายไปทั่ว จึงได้พยายามที่จะช่วยนำขวดพลาสติกเหล่านี้มาใช้ใหม่ ได้แก่ ใช้ขวดพลาสติกสำหรับทำสื่อการศึกษา และประยุกต์ใช้ในงานในครัวเรือน และกิจกรรมที่ 3 รีไซเคิลพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลมาทำเป็นถุงขวดและกล่องของที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ เป็นต้น

ยูเนสโก ร่วมกับ กระทรวงวิทย์-สวทช. และเอไอที จัดงานวันวิทยาศาสตร์โลกเพื่อสันติภาพและการพัฒนา 2561 ชูประเด็นแนวทางจัดการขยะพลาสติก เชื่อมโยงกับสังคม