ศ.นพ. วรวิทย์ เลาห์เรณู นายกสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน แนวโน้มผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เพิ่มสูงขึ้น โรคนี้พบได้บ่อยประมาณร้อยละ 1 ในประเทศตะวันตก สำหรับประเทศทางเอเชียรวมทั้งประเทศไทยพบได้บ่อยประมาณร้อยละ 0.3 ดังนั้นถ้าคิดจากจำนวนประชากรประเทศไทย คาดว่าน่าจะมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 180,000 คน แต่เชื่อว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมไม่เกิน 50,000 คน ด้วยสาเหตุหลัก คือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่เพียงพอต่อการเข้าถึงโรค โดยขณะนี้ประเทศไทยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคนี้เพียง 150 ท่าน และอายุรแพทย์ทั่วไป รวมถึงศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ที่ผ่านการอบรมและสามารถดูแลผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ได้อย่างดีไม่เกิน 500 ท่าน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ดังนั้นภาครัฐ สถาบันผลิตแพทย์เฉพาะทาง ควรให้ความสำคัญ ในการผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่ม (Rheumatologist) ให้มากขึ้นเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างทั่วถึง อีกทั้งระบบหลักประกันสุขภาพไม่ครอบคลุมยาบางชนิดที่จำเป็นต้องใช้ในรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เป็นผลให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังต้องทนทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดและความพิการตามมา
เนื่องจาก โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จัดได้ว่าเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการทำลายข้อเป็นลักษณะเด่น จึงมีความจำเป็นต้องรีบให้การรักษาก่อนข้อจะถูกทำลาย ลักษณะเด่นของโรคนี้คือ มีอาการปวดข้อ มีข้ออักเสบชนิดเรื้อรังโดยเฉพาะข้อมือและข้อนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า และมักเป็นทั้ง 2 ข้างแบบสมมาตรกัน หากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสมตั้งแต่ระยะแรก จำทำให้ข้อถูกทำลาย เกิดข้อพิการผิดรูปและภาวะทุพลภาพตามมา ผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ในระยะแรกอาจจะมีอาการปวดข้อ ปวดเมื่อย เหนื่อยอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไข้ต่ำ ข้อฝืดตึงตอนเช้ามากกว่า 1 ชั่วโมง โดยอาการข้ออักเสบจะยังไม่ชัดเจน จนกว่าอาการของโรคจะดำเนินไปหลายสัปดาห์
.ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคนี้ มีการศึกษาพบว่ามีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมในครอบครัว ภาวะติดเชื้อโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียบางชนิดในช่องปาก และเชื้อไวรัสบางชนิด พบว่าการสูบบุหรี่ก็ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้เช่นกัน สำหรับอาหารไม่พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้
สำหรับการดูแลตนเอง ผู้ป่วยต้องสร้างกำลังใจและทำความเข้าใจต่อโรค ถึงแม้ว่าโรคนี้จะเป็นโรคเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ แต่จากความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน การที่มียาที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคที่ดีขึ้น วิธีการประเมินโรคและวิธีการบริหารยาที่เหมาะสม ทำให้โรคนี้สามารถควบคุมได้ดีกว่าในอดีตอย่างมาก จนถึงขนาดที่บางรายโรคสามารถเข้าสู่ระยะสงบ ไม่เกิดข้อพิการผิดรูป ผู้ป่วยสามารถทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนคนปกติ และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข แต่การรักษาที่จะให้ได้ผลดีนั้น ต้องเริมการักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรคก่อนข้อจะถูกทำลาย ผู้ป่วยต้องติดตามการรักษา รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ พบว่าการรักษาที่ล่าช้าจะทำให้เกิดภาวะข้อพิการผิดรูป ถึงแม้จะสามารถควบคุมภาวะการอักเสบได้แต่ก็จะไม่สามารถทำให้ข้อกลับคืนกลับมาเหมือนคนปกติได้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง ยา ชุด สมุนไพร อาหารเสริม หรือยาอื่นที่ยังไม่ผ่านการรับรอง ควรงดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา ผู้ป่วยควรได้ฝึกการบริหารข้อ ฝึกการใช้ข้อที่อักเสบอย่างเหมาะสม มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการบีบนวดข้อ ทั้งนี้ อาจจะต้องได้รับการแนะนำจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักกายภาพบำบัด
ศ.นพ. วรวิทย์ เลาห์เรณู นายกสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า การรักษาในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก มีการนำยาต้านรูมาติสซั่มที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค หรือยา DMARDs มาใช้ควบคุมโรคตั้งแต่ระยะแรก เป็นผลให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ด้วยดีตั้งแต่ระยะแรก นอกจากนี้ได้มีการพัฒนายาใหม่ๆ เช่น ยาชีววัตถุ (biologic agents) ซึ่งเป็นยาชนิดฉีด หรือยาต้านรูมาติสซั่มชนิดมุ่งเป้า (targeted synthetic DMARDs) ชนิดรับประทาน ซึ่งยาทั้งสองกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบในโรครูมาตอยด์ เป็นต้น พบว่าการรักษาด้วยยาใหม่ได้ผลดีทำให้โรคเข้าสู่ระยะสงบได้เร็ว แม้ว่า การรักษาด้วยยา DMARDs ดั้งเดิมซึ่งเป็นยาที่ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาตินับว่าได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งซึ่งมีอาการโรครุนแรงไม่ตอบสนอง หรือตอบสนองต่อยา DMARDs ไม่ดีพอ ทั้งยาชีววัตถุและยาต้านรูมาติสซั่มชนิดมุ่งเป้านี้ไม่ถูกบรรจุคลอบคลุ่มอยู่ไม่ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติและยากลุ่มนี้สามารถเบิกได้เฉพาะสิทธิข้าราชการเท่านั้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit