การลงทุนจะแบ่งการจ่ายชำระออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก ECF จะเข้าซื้อหุ้น S-TREK จำนวน 10,710,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่า 357 ล้านบาท หรือราคาหุ้นละประมาณ 33.33 บาท โดยจะมาจากวิธีการแลกหุ้นสามัญของ ECF กับหุ้นสามัญของ S-TREK ซึ่ง ECF จะจ่ายชำระจำนวนเงินดังกล่าว โดยการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด แบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP ) ให้แก่ นายจิรศักดิ์ เปรมพจน์วัฒนา ในฐานะผู้ขายและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท เอสเทรค (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 51 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท ที่ราคา 7 บาท/หุ้น หลังการเพิ่มทุนดังกล่าวบริษัทจะเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใน S-TREK ในสัดส่วนร้อยละ 35.7 ของจำนวนทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วทั้งหมดของ S-TREK ซึ่งการชำระในส่วนนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2562
สำหรับส่วนที่ 2 ที่จะต้องมีการจ่ายชำระราคาในมูลค่ารวม 153 ล้านบาท เพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้นของ S-TREK อีกจำนวน 4,590,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนที่จะเพิ่มเติมอีกร้อยละ 15.3 เพื่อให้ได้สัดส่วนการเข้าถือหุ้นของ S-TREK รวมเป็นร้อยละ 51 ของจำนวนทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วทั้งหมดของ S-TREK นั้น จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขผลการดำเนินงานงวด 12 เดือน ของ S-TREK ที่จะเกิดขึ้นในรอบปี 2562 หรือ ปี 2563 หรือปี 2564 ปีใดปีหนึ่งที่สามารถเข้าเงื่อนไขการสร้างผลการดำเนินงานตามตัวเลขที่ระบุในงบการเงินประจำปีนั้น ๆ เป็นไปตามที่ตกลงกัน หากปีใดผลการดำเนินงานเข้าเงื่อนไขตามที่ตกลงกัน บริษัทจะพิจารณาออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัดแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP ) ให้แก่ นายจิรศักดิ์ เปรมพจน์วัฒนา โดยในการกำหนดราคาหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวจะมีส่วนเกินกว่าราคาตลาด (premium) ร้อยละ 10 โดยในการกำหนด "ราคาตลาด" จะเป็นไปตามกฎและระเบียบของ สำนักงาน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการเข้าลงทุนครั้งนี้ จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นสำหรับการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2562 ที่จะมีขึ้นในเดือน มี.ค. 2562 พร้อมกับรายงานความเห็นจากที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งการชำระในส่วนที่ 2 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2565
สำหรับการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรทันทีในปี 2562 โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา STREK มีรายได้รวมประมาณ 4,848 ล้านบาท ดังนั้นการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ จึงถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างการเติบโต โดยจะส่งผลต่อตัวเลขการดำเนินงานของ ECF อย่างมีนัยสำคัญ
"บริษัทมีแผนขยายธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีความน่าสนใจในการเข้าลงทุน เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าจะช่วยสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้น สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ดังนั้นหากมีธุรกิจที่มีความน่าสนใจ บริษัทจะเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าลงทุนกิจการนั้น ๆ ซึ่งไอทีและดิจิตอลถือเป็นเทรนด์ที่สำคัญของโลกยุคปัจจุบัน ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับระยะเวลาข้างหน้าจะได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลภาครัฐ กลุ่มธุรกิจสินค้าไอทีจึงเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่มีความน่าสนใจ"นายอารักษ์ กล่าว
อนึ่ง บริษัท เอสเทรค (ประเทศไทย) จำกัด ("S-TREK") เป็นผู้ดำเนินธุรกิจด้าน IT Solution ในการเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าไอที ให้กับบริษัทชั้นนำระดับโลก มายาวนานกว่า 30 ปี รวมถึงมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทย โดยมีผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่ายมากกว่า 5,000 รายการ และมีกลุ่มลูกค้าทั้งในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศไทย มากกว่า 4,000 ร้านค้า
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติให้เสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/ 2562 ในคราวเดียวกันเพื่อขออนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มช่องทางการระดมทุนของบริษัท ให้มีเครื่องมือในการระดมทุนซึ่งมีต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต เช่น หากมีดีลสำคัญที่ต้องตัดสินใจในการเข้าลงทุน จะทำให้บริษัทสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit