ชูจุดเด่นกระจายการลงทุนพร้อมตั้งเป้า AUM เติบโต 33%
บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล โชว์ศักยภาพการบริหาร "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล สมดุลตามอายุ" คว้ารางวัลชนะเลิศประเภท "Pooled Fund ที่มีขนาดกองทุนต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท" ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 (ปี 2560-2561) จากสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ชูจุดแข็งการเป็นที่ปรึกษาด้านการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ โดยใช้กลยุทธ์จัดพอร์ตการลงทุนตามปีเกษียณของสมาชิก โดยการปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับอายุของสมาชิกที่เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ และลดความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ที่มีต้นแบบจาก Principal Financial Group ผู้นำการบริหารกองทุนระดับโลก พร้อมตั้งเป้าดันมูลค่า AUM กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประเภทสมดุลตามอายุปี 2562 เติบโต 33% เป็นประมาณ 8,000 ล้านบาท
นางปาจรีย์ บุณยัษฐิติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด (บลจ. ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล) เปิดเผยว่า จากความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประเภทสมดุลตามอายุ หรือ Target Date Fund เพื่อเป็นแหล่งเงินออมแก่สมาชิกไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ ล่าสุด "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล สมดุลตามอายุ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว" ที่บริหารจัดการโดย บลจ. ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ประสบความสำเร็จได้รับคัดเลือกรับรางวัลชนะเลิศ ประเภท "Pooled Fund ที่มีขนาดกองทุนต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท" จากโครงการประกวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่น ครั้งที่ 7 ประจำปี 2561 ที่จัดโดยสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยนับเป็นการได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทดังกล่าวเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน (ปี 2560 และ 2561)
รางวัลดังกล่าวสะท้อนถึงประสิทธิภาพการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หลังผ่านเกณฑ์การพิจารณาในด้านต่างๆ อาทิ โครงสร้างการบริหารจัดการกองทุน, บทบาทต่อการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกกองทุน, ความสามารถการเป็นที่พึ่งในวัยเกษียณ ฯลฯ โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประเภทสมดุลตามอายุ ของ
บลจ. ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล มีจุดเด่นคือการให้สมาชิกเลือกแผนการลงทุนตามปีเกษียณของตนเองเพียงครั้งแรกครั้งเดียว โดยผู้จัดการกองทุนจะทำหน้าที่เลือกประเภทของสินทรัพย์ที่จะลงทุน ซึ่งเน้นกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย อาทิ พันธบัตร เงินฝาก หุ้นทั้งในและต่างประเทศ ทองคำ กองทรัสต์ ฯลฯ และปรับเปลี่ยนพอร์ตลงทุนในระยะยาวให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุของสมาชิกโดยอัตโนมัติ และมีแผนการลงทุนรองรับสำหรับสมาชิกที่เกษียณอายุแล้ว โดยมีต้นแบบการบริหารจัดการจาก Principal Financial Group ซึ่งเป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการกองทุนบำเหน็จบำนาญระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา
"นโยบายการให้บริการของเราคือเป็นมากกว่าบริษัทจัดการกองทุน โดยทำหน้าที่เป็นเสมือนคู่คิดในการวางแผนชีวิตวัยเกษียณให้แก่ลูกค้า ทั้งการให้คำปรึกษา การจัดอบรมให้ความรู้ การวางแผนการลงทุนให้แก่สมาชิกกองทุน และเน้นการเพิ่มความคล่องตัวแก่สมาชิกกองทุนในการติดตามความคืบหน้าของผลการดำเนินงาน ประมาณการเงินเกษียณในอนาคตจากแผนการลงทุนและอัตราเงินสะสมสมทบของสมาชิก ตลอดจนการสับเปลี่ยนแผนการลงทุน หรืออัตราเงินสะสมผ่านทาง website ของเรา เพื่อให้สมาชิกสามารถบรรลุเป้าหมายในวัยเกษียณได้" นางปาจรีย์ กล่าว
รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ประเภทสมดุลตามอายุ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) รวมประมาณ 6,000 ล้านบาท นับว่าใหญ่ที่สุดในกลุ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทสมดุลตามอายุในธุรกิจนี้ และมีอัตราเติบโตประมาณ 50% จากมูลค่า AUM ปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท
ขณะที่ปี 2562 วางเป้าหมายผลักดัน AUM เติบโต 33% หรือมีมูลค่า AUM เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยจะใช้กลยุทธ์บริหารจัดการกองทุนฯ และความเสี่ยงด้วยความระมัดระวัง เพื่อบริหารจัดการกองทุนให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองเป้าหมายการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ โดยสมาชิกกองทุนฯ สามารถติดตามผลการดำเนินงานทางเว็บไซต์ของ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล
"นอกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทสมดุลตามอายุแล้ว เรายังมีบริการด้านอื่นๆ เพื่อให้คำแนะนำการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่บริษัทนายจ้างและลูกจ้าง ยกตัวอย่างบริการ Consultative model หรือการเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทนายจ้างในการวิเคราะห์การเลือกอัตราเงินสะสม แผนการลงทุน ตลอดจนการคำนวณหา Average Replacement Ratio หรืออัตราทดแทนรายได้หลังเกษียณเฉลี่ยของลูกจ้างทั้งองค์กร หรือบริการ Plan WISE Retire Well ซึ่งเป็นบริการออนไลน์ให้สมาชิกกองทุนทดลองคำนวณเงินที่จะมีในวันเกษียณอายุ ภายใต้แผนการลงทุนและอัตราการออมในปัจจุบัน พร้อมคำนวณเงินใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ ภายใต้สมมติฐานของสมาชิกแต่ละคน ซึ่งมีประโยชน์กับสมาชิกในการเตรียมความพร้อมเพื่อการเกษียณอายุอย่างมีความสุขอย่างมาก" นางปาจรีย์ กล่าว
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลดำเนินงานในอนาคต
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit