รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวโดยสรุปว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษามากที่สุด เพราะการศึกษาสร้างคน การจะทำให้ประเทศไทยเป็น 4.0 ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ปัจจุบันรัฐบาลมีมติเห็นชอบมาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับ พ.ศ. 2561 ซึ่งจะเน้นผลลัพธ์ คือ คุณภาพของคนไทยในยุค4.0 ซึ่งถ้าเทียบกับมาตรฐานการศึกษาฉบับเก่าจะพบว่า มาตรฐานฉบับนี้ ไม่ได้กำหนดตัวบ่งชี้มากเท่ามาตรฐานฉบับเก่า มีการจัดทำผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของผู้เรียนที่เหมาะสมกับช่วงวัยในแต่ละระดับและประเภทการศึกษาและให้อิสระกับสถานศึกษาในการกำหนดแนวคิด ปรัชญา และวิสัยทัศน์ของการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาและตามความถนัดของผู้เรียน สถานศึกษาจึงมีอิสระในการจัดการศึกษามากขึ้น เป็นประโยชน์มากขึ้น มาตรฐานการศึกษาของชาติ เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะคุณภาพที่พึงประสงค์ของคนไทย เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งยึดเป็นกรอบสำหรับสร้างคนไทย 4.0 ที่แม้แตกต่างตามบริบทของท้องถิ่นและสถานศึกษา แต่มีจุดหมายร่วมคือ "ธำรงความเป็นไทยและแข่งขันได้ในเวทีโลก"โดยมีผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา 3 ประการ คือ 1. ผู้เรียนรู้ 2.ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และ 3. พลเมืองที่เข้มแข็ง
ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มีภารกิจหน้าที่ในการจัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติ ซึ่งมาตรฐานการศึกษาฉบับแรกจัดทำขึ้นในปี 2547 แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป รวมทั้งเป้าหมายในการสร้างคนให้ทักษะที่จำเป็นเปลี่ยนไป จึงต้องจัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่ พ.ศ. 2561 ถือเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพที่พึงประสงค์ของคนไทย เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งยึดเป็นกรอบสำหรับการสร้างคนไทย 4.0 ที่แตกต่างตามบริบทของท้องถิ่นและสถานศึกษา หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วได้มอบหมายให้ สกศ. ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเข้าใจอย่างชัดเจน ถูกต้อง สามารถแปลงกรอบผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษาไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องเชื่อมโยงและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สกศ. จึงได้จัดสัมมนาวิชาการ มาตรฐานการศึกษาสู่การยกระดับคุณภาพคนไทย 4.0 ขึ้น ครั้งนี้เป็นครั้งแรก และจะจัดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และอีก 4 พื้นที่ คือ อุบลราชธานี เชียงราย อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี เพื่อสร้างความเข้าใจในการนำมาตรฐานการศึกษาของชาติ มาตรฐานการศึกษา และหลักสูตรการศึกษาแต่ละระดับและประเภทการศึกษา สู่การปฏิบัติ
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัยมาก ปัจจุบันการศึกษาในระดับปฐมวัยของไทยยังมีความความเหลื่อมล้ำ และเด็กมีพัฒนาการต่ำกว่าเกณฑ์อยู่มาก รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาให้เด็กปฐมวัยคณะกรรมการพัฒนาเด็กแห่งชาติ (ก.พ.ป.) ซึ่งมี สกศ. เป็นฝ่ายเลขานุการ ได้ทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติและได้ผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 มาตรฐานฉบับนี้จะเป็นมาตรฐานกลางให้ทุกหน่วยงานใช้ร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการดูแลพัฒนา จัดการศึกษาและการดำเนินงานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกสังกัดที่ดูแลเด็กในเวลากลางวัน ช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ หรือ ก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่สามารถนำไปใช้ประเมินการดำเนินงานของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในทุกสังกัด โดยมีมาตรฐานใน 3 ด้าน คือ 1. การบริหารจัดการ 2. กระบวนการดูแล จัดประสบการณ์ เรียนรู้และเล่น และ 3. คุณภาพของเด็กปฐมวัย
HTML::image( HTML::image( HTML::image(