แหม่ม คัทลียา ทูตไวล์ดเอดชวนคนไทย 'ไม่เอางาไม่ฆ่าช้าง’ ในวันช้างโลก

10 Aug 2018
องค์กรไวล์ดเอด เปิดตัววิดีโอรณรงค์ชิ้นล่าสุด ที่มีคุณแหม่ม คัทลียา แมคอินทอช นักแสดงและพิธีกรชื่อดังและทูตองค์กร เป็นตัวแทนบอกเล่าถึงสายสัมพันธ์ อันใกล้ชิดระหว่างแม่กับลูกช้าง และผลกระทบที่น่าเศร้าจากความต้องการซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์งาช้าง เนื่องในวันช้างโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติของไทยอีกด้วย
แหม่ม คัทลียา ทูตไวล์ดเอดชวนคนไทย 'ไม่เอางาไม่ฆ่าช้าง’ ในวันช้างโลก

ช้าง เป็นสัตว์ที่มีสัญชาติญาณความเป็นแม่ที่แรงกล้า สายสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกช้าง ถือว่ามีความผูกพันใกล้ชิดมากกว่าสัตว์ทั่วไป แม่ช้างใช้เวลาอุ้มท้องนานถึง 22 เดือน หรือเกือบ 2 ปี และยังต้องใช้เวลานานกว่า 2 ถึง 4 ปีในการเตรียมความพร้อมร่างกายเพื่อที่จะมีลูกสักหนึ่งตัว แต่ทุกปีมีช้างมากถึง 33,000ตัว ถูกฆ่าเพื่อเอางาในทวีปแอฟริกา ทำให้ในหลายๆ ประเทศ อัตราการตายของช้างจึงสูงกว่าจำนวนช้างแรกเกิด

"ความต้องการงาช้างในเอเชียกำลังเพิ่มอัตราการสูญเสียของช้างแอฟริกา ในฐานะแม่ แหม่มขอพูดถึงบทบาทของแม่ช้างที่มีความสำคัญมากต่อการอยู่รอดของลูกช้าง อย่างที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้เช่นเดียวกับมนุษย์ ลูกช้างเพศเมียจะอยู่ใกล้ชิดกับแม่ของมัน จนลมหายใจสุดท้าย แต่มนุษย์กลับใช้เวลาแค่ไม่กี่นาทีคร่าชีวิตช้างเพียงเพื่องา แหม่มขอชวนทุกคนช่วยกันแชร์คลิปวิดีโอนี้ เพื่อแสดงพลังที่มีต่อช้างไม่ว่าที่ไหนในโลก เผยแพร่ให้เยาวชนได้เห็นสายใยที่ใกล้ชิดระหว่างครอบครัวช้าง เนื่องในวันช้างโลก และวันแม่ และร่วมกันยุติการฆ่าช้างเอางาด้วยการเลิกซื้อ เลิกใช้ และเลิกรับผลิตภัณฑ์งาช้าง" คุณคัทลียา กล่าว

ในขณะที่ช้างเอเชียเพศผู้เท่านั้นที่จะมีงา ช้างแอฟริกาจะพบงาได้ทั้งในเพศผู้และเพศเมีย ทำให้ ทำให้ทั้งโขลง/ครอบครัวช้าง ตกเป็นเป้าหมายของการถูกล่า และลูกช้างซึ่งยังไม่มีงาจะตกอยู่ในอันตรายจนกว่าจะได้รับความช่วยเหลือ จากหน่วยงานที่รับดูแลลูกช้างกำพร้า วิดีโอรณรงค์ 'ช้างไม่ลืม' ได้รับแรงบันดาลใจมาจากคำบอกเล่าและการศึกษาวิจัยที่พบว่า ช้างเป็นสัตว์ที่มีความจำเป็นเลิศ โดยคุณแหม่ม คัทลียา พูดถึงลูกช้างในแอฟริกาต้องกำพร้า เพราะพ่อ และแม่ของมันถูกฆ่าเอางา เพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่จำเป็นของมนุษย์ และชวนให้ทุกคน #ไม่เอางาไม่ฆ่าช้าง ด้วยการหยุดซื้อ หยุดใช้ และหยุดรับผลิตภัณฑ์งาช้าง

ช้าง เป็นสัตว์ประจำชาติของไทย การอนุรักษ์และปกป้องช้าง จึงถือเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นสิ่งที่ ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการหลายอย่าง เพื่อคุ้มครองช้างและแก้ปัญหา การค้างาช้างผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2558 ไทยออกพระราชบัญญัติงาช้าง เพื่อควบคุมตลาดค้างาช้างถูกกฎหมายที่มาจากช้างบ้านของไทยที่เป็นช้างเอเชียเท่านั้น และรัฐบาลยังได้แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กำหนดให้ช้างแอฟริากันเป็น 1 ในสัตว์คุ้มครองของไทย มีผลห้ามการซื้อขายหรือครอบครองงาช้างแอฟริกัน

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น (IUCN) ประเมินว่า ประชากรช้างแอฟริกันลดลงราว 110,000 ตัวในช่วง 10ปีที่ผ่านมา แม้แนวโน้มการฆ่าช้างแอฟริกันจะลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อปี พ.ศ.2554 แต่จำนวนช้างที่ถูกฆ่ายังอยู่ในระดับสูงเมื่อดูภาพรวมทั้งทวีป และประชากรช้างแอฟริกันยังคงมีแนวโน้มลดลงเมื่อดูจากจำนวนในปี พ.ศ.2559

ตราบใดที่ยังมีความต้องการและการยอมรับการใช้ผลิตภัณฑ์งาช้างอยู่ในสังคม ประชากรช้างทั่วโลก ก็จะยังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ "การลดความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์งาช้าง ถือเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรไวล์ดเอดในการยุติการฆ่าช้างเอางา เราหวังว่าการสร้างความตระหนักให้คนรับรู้ถึงความโหดร้ายที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์งาช้าง จะทำให้สังคมหันหลังให้กับ การซื้อ การใช้ผลิตภัณฑงาช้างมากยิ่งขึ้น เพราะหยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า" มร.จอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์องค์กรไวล์ดเอด กล่าว

HTML::image(