นายภัทรพงศ์ กันหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ที่ดิจิทัล เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตเหมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ทำให้การเข้าถึง โซลูชั่นและบริการต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลง่ายขึ้นแค่ปลายนิ้วสัมผัส ก่อให้เกิดกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ เรียกว่าดิจิทัล คอนซูเมอร์ ที่มีพฤติกรรมและความต้องการเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้นการให้บริการของธนาคารเองก็จะต้องเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่จากเดิมที่ทุกอย่างถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ ๆ ก็จะถูกออกแบบมาสำหรับลูกค้าแต่ละบุคคลมากขึ้น โดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ทำให้เข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ชัดและลึกมากขึ้นจึงสามารถสร้างลูกค้าเซ็กเม้นท์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนได้
ธนาคารกสิกรไทยจึงต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นไลฟ์ แพลตฟอร์ม "คนรู้ใจ" ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวันอันหลากหลายของทุกคน ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการใหม่ ๆ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กรอบการให้บริการการเงินแบบเดิมอย่างที่ธนาคารเคยทำมาอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้ง การเดินทาง ความบันเทิง และอื่น ๆ อีกมากมาย ผ่านเทคโนโลยี APIs (Application Programming Interface) ที่ให้พันธมิตรทางธุรกิจ นำสินค้าและบริการต่าง ๆ มาเชื่อมต่อกับบริการของธนาคารได้อย่างไร้รอยต่อ
นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า ธนาคารมีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่จะมุ่งสู่การเป็นไลฟ์ แพลตฟอร์มของลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศทั่วภูมิภาค AEC+3 ผ่านช่องทางดิจิตอลและโมบาย โซลูชั่น ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ การพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัล เทคโนโลยี ให้ก้าวขึ้นสู่ระดับภูมิภาค ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทยจึงได้จัดตั้ง บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KASIKORN VISION COMPANY LIMITED)หรือ เควิชั่น (KVision) ขึ้นมา ด้วยเงินลงทุนกว่า 8 พันล้านบาท (245 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและเสริมทัพด้านดิจิทัล เทคโนโลยี ให้กับธนาคาร โดยเค-วิชั่น จะมีฐานะเป็น Investment Holding Company ภายใต้เครือธนาคารกสิกรไทยจะเข้าไปเสาะหาและร่วมพัฒนาความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ กับ เทค คอมมูนิตี้ หรือ บุคลากรผู้เชียวชาญด้านเทคโนโลยี จากทั่วทุกมุมโลก
การดำเนินการในระยะแรกของ เควิชั่น จะมุ่งเป้าไปที่การสร้างฐานรากก่อน โดยการตั้ง บิสซิเนส อินโนเวชั่น สเก๊าท์ติ้ง เพื่อเข้าไปค้นหาพันธมิตรในกลุ่มประเทศทีมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาและนำใช้กับผู้บริโภคในประเทศนั้น ๆ ก่อน 4 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ปัจจุบันมีจำนวนFin-Tech Unicorns หรือบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ แซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปแล้ว เวียดนาม และอินโดนีเซีย ประเทศที่มีการเติบโตของเทค สตาร์ทอัพเป็นอันดับต้น ๆ ใน AEC+3 สุดท้ายคือ อิสราเอล ที่เป็นจุดกำเนิดเทคโนโลยีใหม่และเป็นแหล่งรวมของ บุคลากรผู้เชียวชาญด้านเทคโนโลยีหลังจากที่บิสซิเนส อินโนเวชั่น สเก๊าท์ติ้ง เข้าไปเรียนรู้และค้นหาพันธมิตรที่มีศักยภาพได้แล้ว
บริษัท เควิชั่น ก็จะศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าไปลงทุน ทั้งในรูปแบบการเข้าไปถือหุ้นโดยตรง หรือการลุงทุนผ่านกองทุน Beacon Venture Capital Fund ที่มีการเพิ่มเม็ดเงินลงทุน เพื่อเตรียมให้ความสนับสนุนด้านเงินทุนในการทำธุรกิจแก่เทค สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและมีเทคโนโลยีที่อยู่ในช่วงกำลังพัฒนา แต่มีความน่าสนใจและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ทางธุรกิจของธนาคาร และนำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้และยกระดับบริการของธนาคารทั้งในไทยและใน AEC+3
การก่อตั้ง เควิชั่น จะทำให้ธนาคารได้เปรียบในเรื่องความคล่องตัวในการนำดิจิตอล โซลูชั่นส์ต่าง ๆ มาให้บริการแก่ลูกค้า สามารถย่นระยะเวลาในการพัฒนาบริการอย่างก้าวกระโดด นำเสนอประสบการณ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ก็จะเป็นการยกระดับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของธนาคารจากการเรียนรู้และปฏิบัติจริงที่ได้จากร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญในการสร้างนวัตกรรมในระดับนานาชาติที่จะเข้ามาร่วมงานกับเครือธนาคารกสิกรไทย
นายภัทรพงศ์ กล่าวตอนท้ายว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกรวมทั้งธุรกิจธนาคารที่ไม่ได้แข่งกับธนาคารกันเองอีกต่อไป ธนาคารจึงจำเป็นต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อยกระดับบริการและประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เหนือกว่าให้แก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อก้าวสู่การเป็น ไลฟ์ แพลตฟอร์ม อันดับหนึ่งของภูมิภาค ในอนาคตอย่างแท้จริง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีเป้าหมายชัดเจนในก้าวออกสู่เวทีการแข่งขันด้านดิจิตอลในระดับโลกเพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพและแสวงหาเทคโนโลยีชั้นนำมารองรับการขยายบริการธนาคารยุคใหม่ การก่อตั้ง เควิชั่น จะช่วยให้ธนาคารสามารถพัฒนาและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ กับพันธมิตร และก้าวไปยืนอยู่ในระดับแถวหน้าของดิจิทัล เทคโนโลยีที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในทุกแพลตฟอร์มในระดับภูมิภาคได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit